“..ไม่เคยคิดว่าจะย้าย ถ้าเราหนีเราไม่อยู่แล้วใครจะอยู่ เข้าใจว่างานเสี่ยง แต่เด็กและเยาวชน ประชาชนในพื้นที่เขาเสี่ยงและยากลำบากยิ่งกว่าเรา ที่สำคัญงานของพระองค์ท่านใครจะทำ ใครจะสานต่อ ฉะนั้นเราจะปล่อยให้เทียนดับไม่ได้ แสงสว่างที่ริบหรี่ก็ยังดีกว่ามืดมน อย่างน้อยก็ช่วยให้ไม่หลงทางไปไกลนัก..”
—---------------
จากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดบนถนนศรีสาคร-จะแนะ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ประะกอบด้วย 1.พ.ต.ท.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 84 หมู่ 7 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา จ.พัทลุง ครูใหญ่ โรงเรียนตชด.บ้านตืองอ และ 2.ด.ต.โดม ช่วยเทวฤทธิ์ อายุ 35 ปี บุตรชาย พ.ต.ท.สุวิทย์ คุรุทายาทครู ตชด.รุ่น 8 โรงเรียน ตชด. บ้านตืองอ
สำหรับ พ.ต.ท.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ นั้นเคยได้รับการเสนอชื่อเป็นครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ และยังเคยได้รับรางวัลผู้ปิดทองหลังพระ เมื่อปี 2560 จากงานประกาศรางวัล คนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ 9 พลังของแผ่นดิน
เว็บไซต์ “มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เคยลงบทสัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.สุวิทย์ไว้เมื่อครั้งได้รับการเสนอชื่อและผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ซึ่งขณะนั้นเขายังมียศเป็น “ร.ต.ต.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์” โดยระบุว่า
ครูผู้ใช้ “ใจ” เข้าไปพัฒนาชุมชน แสงเทียนกลางควันปืน หยัดยืนเพื่อสร้าง “โอกาสทางการศึกษา”
“วาซูเด๊าะ ตูเบ๊ะ ไม๊ลูวา” เป็นภาษามลายูคำแรกที่ “สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์” ครูหนุ่มจากเมืองพัทลุงรู้จักและนำมาใช้เมื่อมาเริ่มต้นสอนหนังสือในชั้นอนุบาล 3 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ ชุมชนกลางป่าลึกของเทือกเขาคีรีบรรพต เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ ทำการบ้านที่หมายความว่า “รีบทำให้เสร็จ จะได้ออกไปเล่นข้างนอก”
ด้วยเพราะเป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียน ตชด. ในพื้นที่สีแดงของจังหวัดพัทลุงในวัยเด็ก ได้เห็นความยากลำบากของครูที่ทุ่มเทเพื่อให้เด็กๆ ได้รับโอกาสทางการศึกษา ทำให้ “ครูวิทย์” ซึ่งเป็นคำเรียกขานของเด็กๆ และชาวบ้าน ตัดสินใจทิ้งชีวิตโลดโผนในวัยหนุ่ม มุ่งหน้าเข้ามายังชุมชนกลางป่าที่แทบไม่มีใครรู้ภาษาไทย เพื่อสร้างอนาคตทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าฯ
“ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่เด็กว่าสักวันจะเป็นครู อยากช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ๆ ทุรกันดาร จึงเข้ามาเป็นครูโดยได้สิทธิสอบบรรจุครูคุรุทายาท เมื่อได้จึงเลือกที่จะทำงานในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ที่ใครๆ ก็ไม่อยากมา แต่ผมกลับมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำงานสนองงานพระราชดำริของทุกพระองค์ได้อย่างเต็มที่”
ด้วยความทุ่มเทและเสียสละความสุขส่วนตัวกว่า 20 ปีเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลและเสี่ยงภัยอันตรายให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นคนเก่งและเป็นคนดี บนวิถีแห่งความพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ทำให้ “ร.ต.ต.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์” ครูใหญ่ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอ ช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ได้รับการเสนอชื่อเป็นครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ
“โรงเรียนบ้านละโอที่มาสอนครั้งแรกจนถึงวันนี้เปิดมาได้เพียง 20 กว่าปี แสดงว่าก่อนหน้านั้นในตำบลคีรีบรรพตไม่มีโรงเรียน เพราะคนในชุมชนเขามองว่าเรียนไปแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร เรียนแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตเดิมๆ ถางป่า ทำสวน ทำไร่ กลับไปในหมู่บ้านก็ไม่ได้ใช้ภาษาไทย เรียนไปก็เสียเวลา” ครูวิทย์เล่าถึงเรื่องราวในอดีต
การเริ่มต้นทำหน้าที่ “ครู” ในพื้นที่ที่แทบไม่มีใครใช้ภาษาไทย และไม่มีใครเห็นคุณค่าของการเรียนหนังสือ ดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่มากกว่ามากกว่าการสอน เพราะถ้าไม่มีคนเรียนครูก็ไม่รู้จะสอนใคร ดังนั้นสิ่งแรกที่ “ครูวิทย์” คิดในตอนนั้นคือทำอย่างไรก็ได้ที่จะเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อของชุมชน
“ผมมาจากพัทลุง พูดมลายูก็ไม่ได้ เลยคิดว่าทำยังไงให้เราสนิทกับเขาก่อน ก็ไปคลุกคลี โชคดีที่ผมเป็นมุสลิมก็ใช้หลักทางศาสนาโดยไปมัสยิดบ่อยขึ้น ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเจ็บป่วยไม่สบายก็ไปเยี่ยม บอกกับชาวบ้านตลอดว่าเรามาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและของทุกคนในชุมชน เอาเรื่องของอาชีพเข้าไปจับ เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง แนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย ประสานหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาอาชีพในด้านต่างๆ ใช้กระบวนการเหล่านี้มาสนับสนุนแทนที่จะไปพูดเรื่องการศึกษาอย่างเดียว”
“และใช้โอกาสในช่วงที่เกิดวิกฤตหรือปัญหาต่างๆ ขึ้นกับคนในชุมชนเป็นโอกาสในการเข้าถึงหัวใจของคนในชุมชน โดยช่วยเหลือเขาทุกด้าน ทุกเรื่องในชุมชน ทุกเรื่องในวิถีชีวิตของเขา จนชาวบ้านพูดต่อๆ กันว่าคิดอะไรไม่ออกไปบอกครูวิทย์ (หัวเราะ) ตรงนี้มันได้กลายเป็นความสุขของเรา” ครูวิทย์เล่าถึงเทคนิคการเข้าถึงชุมชน
ด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจในการเข้าถึงชุมชน ทำให้เด็กนักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย แต่ “ครูวิทย์” ก็ยังไม่หยุดการทำงานกับชุมชน หลายโครงการต้องควักเงินเดือนของตัวเองมาทำอย่าง “รับขวัญน้อง” ที่ร่วมกับภรรยาซื้อของไปเยี่ยมเด็กแรกเกิดในชุมชน หรือการจัดทริปพา “แม่บ้าน” ในชุมชนออกไปเปิดโลกทรรศน์ภายนอกด้วยการพาไปเที่ยวบ้านที่พัทลุง ที่นอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ฉันญาติพี่น้องให้เกิดขึ้นระหว่างคนในชุมชนกับ “ครูวิทย์” แล้ว ทำให้เกิดการยอมรับสังคมภายนอกอีกด้วย
นอกจากทำงานอย่างเข้าถึงและเข้าใจชุมชนอย่างสม่ำเสมอ การพัฒนาการศึกษาก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ “ครูวิทย์” ให้ความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้
“ถ้าเด็กไม่รู้ภาษาไทย วิชาอื่นๆ นี่ไม่ต้องถาม คณิตศาสตร์ สุขศึกษา สังคม วิทยาศาสตร์ ถ้าอ่านไม่ได้ ตีความหมายไม่ได้ก็จบ ป.1 ไม่ต้องเรียนวิชาอื่นๆ เอาภาษาไทยให้ได้ก่อน แต่ทีนี้ทำอย่างไรไม่ให้เด็กเบื่อ”
คำอธิบายที่จบท้ายด้วยคำถามของ “ครูวิทย์” ได้กลายมาเป็นเทคนิคการเรียนรู้ภาษาไทยผ่าน “บัตรคำ” ใช้กระดาษเปล่าแผ่นเล็กๆ คล้องคอเด็กๆ กลับไปที่บ้านเพื่อฝึกเขียนคำศัพท์ มีการสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัลต่างๆ ยิ่งเด็กคนไหนให้พ่อและแม่เขียนชื่อกำกับมาด้วยก็จะยิ่งได้คะแนนเพิ่ม
จากบัตรคำได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาอีกขั้นสู่ “ธนาคารคุณธรรม” โดยให้เด็กๆ เขียนเล่าเรื่องถึงความดีที่ตัวเองได้ทำมาในแต่ละวันที่บ้าน ที่ช่วยทำให้เด็กฝึกความคิด คิดถึงในสิ่งที่ดี และยังได้ฝึกเขียนภาษาไทย ด้วยการเขียนถึงความดี ที่ทำให้ครอบครัวและผู้ปกครองได้เรียนรู้ภาษาไทยไปพร้อมๆ กับลูกหลานของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาพื้นที่โดยรอบของโรงเรียนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิด เลี้ยงไก่ เป็ด ปลาดุก เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาใช้ในโครงการอาหารกลางวันให้เด็ก มีการเพาะพันธุ์พืชผักต่างๆ สำหรับแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ทำให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วย
แม้อาชีพ “ครู” ที่เปรียบเหมือนแสงเทียนเล่มน้อยต้องฝ่าฟันอุปสรรค มรสุม และความโหดร้ายนานา ด้วยมีเหตุการณ์ความรุนแรง เสียงระเบิด และควันปืน เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันในพื้นที่ แต่ไม่ได้ส่งผลให้กำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ของ “ครูวิทย์” เสื่อมถอยหรือคิดที่จะเปลี่ยนใจย้ายออกนอกพื้นที่
“ไม่เคยคิดว่าจะย้าย ถ้าเราหนีเราไม่อยู่แล้วใครจะอยู่ เข้าใจว่างานเสี่ยง แต่เด็กและเยาวชน ประชาชนในพื้นที่เขาเสี่ยงและยากลำบากยิ่งกว่าเรา ที่สำคัญงานของพระองค์ท่านใครจะทำ ใครจะสานต่อ ฉะนั้นเราจะปล่อยให้เทียนดับไม่ได้ แสงสว่างที่ริบหรี่ก็ยังดีกว่ามืดมน อย่างน้อยก็ช่วยให้ไม่หลงทางไปไกลนัก”
วันนี้แสงเทียนเล่มน้อยของ “ครูวิทย์” ยังถูกต่อยอดแสงสว่างเพื่อส่องทางในถิ่นทุรกันดารเพิ่มขึ้นอีก 2 เล่มนั่นก็คือ “ลูกชาย” ทั้ง 2 คนที่ปัจจุบันเป็น “คุรุทายาท” สมัครใจทำงานเป็น ครู ตชด.เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาเช่นเดียวกับ “พ่อ” ผู้เป็นต้นแบบ