xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้ง “นายก อบจ.สงขลา” เมื่อ ‘ตาอินฉะกับตานา’ แล้วมี ‘ตาอยู่’ คอยตามเก็บคะแนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

การเลือกตั้ง “องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา” ที่กำหนดให้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาของตัวแทนประชาชนในการเข้าไปทำหน้าที่บริหารงบประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาทต่อปีในครั้งนี้มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดคือมีผู้แสดงเจตจำนงลงรับสมัครในตำแหน่งนายก อบจ.สงขลาถึง 9 คน ซึ่งมากที่สุดในประวัติการณ์ นับแต่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. และมีผู้สมัครในตำแหน่ง “ส.อบจ.” หรือ “ส.จ.” ถึง 180 คน จาก 36 เขตเลือกตั้งใน 16 อำเภอของ จ.สงขลา

รายชื่อของผู้สมัครในครั้งนี้เรียงตามหมายเลขได้แก่ 1.น.ส.อภิญญา ยอดแก้ว ในนามอิสระ 2.นายนิรันดร์ จินดานาค พรรคประชาชน 3.นายประสงค์ บริรักษ์ ทีมสงขลาเข้มแข็ง 4.นางดวงพร เสนาวัลย์ ในนามอิสระ 5.นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ทีมสงขลารวมพลัง 6.นายสงขลา พอกันที ทีมสงขลาพอกันที 7.นายเศกสิทธิ์ รตนพิบูลย์ ในนามอิสระ 8.น.ส.ชนัญชิดา พรหมราช ในนามอิสระ และ 9.นายณัฐภัทร ชุมทองเชิดบำรุง ในนามอิสระ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ “แชมป์เก่า” อย่าง “ไพเจน มากสุวรรณ์” อดีตนายก อบจ.สงขลา ไม่ได้ไปต่อ เพราะบ้านใหญ่ ผู้มากบารมี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้ “ไพเจน” ได้เป็นนายก อบจ.สงขลา ไม่อนุญาตให้ลงรับสมัครอีกในครั้งนี้ เพราะ “บ้านใหญ่” ต้องการสนับสนุน” ให้ “สุพิศ พิทักษ์ธรรม” ผู้สมัครจากทีมสงขลารวมพลัง หมายเลข 5 ได้เป็นนายก อบจ.สงขลา ทำให้ “ไพเจน” ต้องยอมถอยและออกแถลงการณ์ถึงประชาชนในการขอยุติบทบาททางการเมือง เพื่อจะได้ไม่มีบุญคุณต่อกัน เป็นการถอยที่มีการ “หลั่งน้ำตา” เพราะโดยข้อเท็จจริง เจ้าตัวยังต้องการที่จะลงสมัครเพื่อให้ประชาชนเลือกอีกครั้ง

ดังนั้น ในการเลือกตั้งในตำแหน่งผู้บริหารของ อบจ.สงขลาครั้งนี้ ผู้ที่เคยผ่านเวทีการเมืองมาแล้วทั้งท้องถิ่นและระดับชาติคือ “ประสงค์ บริรักษ์” หรือ “นายกแบน” ที่เคยเป็นทั้งอดีตนายกเทศบาลเขารูปช้าง อ.เมือง สงขลา และเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.สงขลา เขต 1 ในนามพรรคภูมิใจไทย แต่จุดอ่อนของ “นายกแบน” คือ ไม่สดในทางการเมือง เพราะล่าสุด แพ้เลือกตั้งทั้งในตำแหน่งนายกเทศบาลเขารูปช้าง และสอบไม่ผ่านในการเป็น ส.ส.สงขลา เขต 1 ครั้งล่าสุด

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สนับสนุน ในฐานะของพันธมิตร ที่ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย แต่การที่จะมีชัยในสนามการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาครั้งนี้ คงต้องเหนื่อย เพราะการที่จะใช้ “นครศรีธรรมราชโมเดล” คือการประกาศว่า “ไม่ใช้เงินซื้อเสียง” มาใช้กับ “สงขลา” มีหลายอย่างที่แตกต่าง แต่มีหลายอย่างที่คล้ายคลึง จึงอยู่ที่กลยุทธ์ในการหาเสียง

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาครั้งนี้ สายตาของคนส่วนใหญ่ใน จ.สงขลาต่างจับจ้องไปที่ “สุพิศ พิทักษ์ธรรม” ผู้สมัครจากทีมสงขลาเข้มแข็ง หมายเลข 5 ที่ลาออกจากการเป็นอธิบดีกรมฝนหลวง โดยหมายมั่นปั้นมือในการเป็นนายก อบจ.สงขลา โดยมีบ้านใหญ่ “บุญญามณี” และบ้านใหญ่ “ขาวทอง” ให้การสนับสนุน และมี “โกถึก” หรือ “สมยศ พลายด้วงส.ส.สงขลา เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่ง ”น้องภรรยา” เป็นรองนายก อบจ.สงขลา และส่งลูกชายเป็น ส.อบจ. พร้อมประกาศถึงความพร้อมของเสบียงกรังในการสู้ศึกครั้งนี้

แต่ในจุดแข็งของ “สุพิศ พิทักษ์ธรรม” ก็มีจุดอ่อน นั่นคือไม่เคยสัมผัสกับการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติมาก่อน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก การหาเสียงจึงต้องพึ่งพาผู้สมัคร ส.บอจ.และบ้านใหญ่ให้การสนับสนุน นอกจากนี้ มีประชาชนที่ไม่ชอบ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไม่เลือก “สุพิศ” ไม่ใช่เพราะไม่ชอบ “สุพิศ” แต่ที่ไม่เลือกเพราะไม่ชอบ “บ้านใหญ่” และ “ส.ส.” ในพื้นที่ที่ให้การสนับสนุน โดยอาจจะไปลงคะแนนให้ผู้สมัครอื่นๆ แทน

ในขณะที่พรรคประชาชนก็เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ในการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาครั้งนี้ มีความคาดหวังไว้สูงว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนใน จ.สงขลา ด้วยการส่ง “นิรันดร์ จินดานาค” ซึ่งเป็นคนหนุ่ม ที่มีความรู้ความสามารถลงแข่งขันเพื่อให้เป็นตัวเลือกของประชาชน โดยมีคะแนน 200,000 กว่าคะแนน ที่เคยได้จากการเลือกตั้ง ส.ส.สงขลาครั้งล่าสุด ที่พรรคประชาชนประเมินว่า ในการเลือกนายก อบจ.สงขลาครั้งนี้ คะแนนที่เคยเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สงขลาของพรรคประชาชนยังจะเป็นของ “นิรันดร์ จินดานาค” และจะมีคะแนนสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นการเมืองท้องถิ่นในรูปแบบใหม่มาเติมเต็มให้ผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ.ในครั้งนี้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะสงขลามีมหาวิทยาลัยถึง 5 แห่ง และเป็นเมืองธุรกิจการค้าการท่องเที่ยว ที่เป็นฐานของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ในการแข่งขันของผู้สมัครนายก อบจ.สงขลาในครั้งนี้จึงเป็นการ “แข่งดุ” ของ 3 ทีมเป็นด้านหลัก โดยมี “ทีมพลังสงขลา” ที่มี “สุพิศ พิทักษ์ธรรม” เปรียบเสมือน “ตาอิน” ที่ต้องแข่งกับ “ประสงค์ บริรักษ์” ที่เปรียบเสมือนกับ “ตานา” และมี “ตาอยู่” อย่าง “นิรันดร์ จินดานาค” จากพรรคประชาชน คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาการแย่งชิงตำแหน่งนายก อบจ.ในครั้งนี้

ส่วนผู้สมัครอีก 6 คนนั้น หลายคนมีความคาดหวังว่าจะเป็นทางเลือกของประชาชน ซึ่งอาจจะเบื่อหน่ายกับการเมืองท้องถิ่นแบบเก่าๆ เดิมๆ ที่มีบ้านใหญ่ มีกลุ่มอิทธิพล และผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง หลังการได้ตำแหน่งก็เชื่อได้ว่า อาจมีการแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน ที่เป็นเงินภาษีของประชาชน ซึ่งเป็นข่าวฉาวโฉ่มาโดยตลอด

“สงขลา” เป็นจังหวัดที่มีเรื่องติดอันดับ “ท็อปเท็น” หลายเรื่อง เช่นเป็นหนึ่งในสิบของ อบจ.ที่มีการทุจริต มีนักการเมืองท้องถิ่นที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกในข้อหาการทุจริตมากที่สุด มีธุรกิจผิดกฎหมายมากที่สุด เป็นศูนย์กลางการพนันออนไลน์ใหญ่ที่สุดในภาคใต้

ทั้งหมดคือเรื่องที่คนสงขลาต้องคิดและทบทวนว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะเลือกใครจากผู้สมัครทั้ง 9 คน เพื่อมาทำหน้าที่ “ตัวแทน” ในการเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น