คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
กรณียิงแล้วเผา จ.ส.อ.อนันต์ มณีโชติ เจ้าหน้าที่การข่าว ฉก.ทพ.48 ที่หมู่ 1 ต.ปะรุลู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส คือเหตุการณ์ล่าสุด แต่ไม่ใช่สุดท้ายที่เกิดจากฝีมือกองกำลังติดอาวุธ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นไปตาม “ยุทธการใบไม้ร่วง” ที่บีอาร์เอ็นใช้ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ และ “สายข่าว” ในชายแดนใต้ นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 หลังพบว่า “การข่าวฝ่ายรัฐดีขึ้น” รู้ความเคลื่อนไหวแนวร่วมระดับปฏิบัติการที่หลบเข้ามาในพื้นที่ ทั้งเพื่อมาเยี่ยมครอบครัวและร่วมวางแผนก่อการร้าย
บีอาร์เอ็นรับรู้ถึงการ “เสียลับ” จากการที่คนในขบวนการถูกปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุม โดยเฉพาะการ “จับเป็น” แล้วนำไปสู่กระบวนการสอบสวนและซักถาม เพื่อขยายผลได้ค่อนข้างมาก ซึ่งหากการข่าวของเจ้าหน้าที่ยังมีประสิทธิภาพต่อไป ย่อมส่งผลเสียอย่างร้ายแรงแน่
“ยุทธการใบใบร่วง” คือการหยุดมาตรการปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุมของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการตัดตอน “สายข่าว” ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง อีกทั้งยังเป็นการข่มขู่และสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่คอยแจ้งข่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ด้วย
ดังนั้น ไม่ว่าจะ “แหล่งข่าว” หรือ “สายข่าว” เจ้าหน้าที่ที่ส่วนใหญ่เป็น “มุสลิม” จึงถูกปลิดชีพเป็นใบไม้ร่วง เมื่อผสมกับความขัดแย้งส่วนตัว การหักหลังในธุรกิจสีเทาโดยเฉพาะยาเสพติด ยิ่งทำให้ดูเหมือนเป็นเหตุปกติที่จะมีคนถูกยิงตายเกือบทุกวัน ซึ่งการเสียชีวิตของสายข่าวเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดเผยสาเหตุแท้จริงได้
นอกจากนี้ บีอาร์เอ็นยังรู้จุดอ่อนอีกอย่างด้วยว่า “กล้องวงจรปิด” คือวัตถุพยานที่ศาลเชื่อถือ เช่นเดียวกับหลักฐานจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ที่วันนี้ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยที่สุดในประเทศ ดังนั้น ตลอดในปี 2567 ที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นจึงเน้นทำลายกล้องวงจรปิดด้วยเช่นกัน
จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะมีการเฝ้าติดตามจนสังหาร จ.ส.อ.อนันต์ มณีโชติ ได้สำเร็จ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่การข่าว ทั้ง “มือดี” และ “ไว้ใจได้” ของหน่วยงานความมั่นคง เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่การข่าวไม่กี่คนที่ “เข้าถึง” ความเคลื่อนไหวกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นในพื้นที่
ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไร กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะยุติการลอบสังหาร “แหล่งข่าว” และ “สายข่าว” ตามแผนยุทธการใบไม้ร่วงของบีอาร์เอ็นได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว อีกไม่นาน ทุกหน่วยงานรัฐอาจจะ “มืดบอด” ด้านการข่าว แถมคนในพื้นที่ก็จะไม่มีใครกล้าให้ความร่วมมือใดๆ เลย
ไม่เพียงเท่านั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องยกเป้าหมายสู่ทำลายล้าง “โครงสร้าง” ที่บีอาร์เอ็นวางคนไว้ในโครงข่ายให้ทำหน้าที่ด้านต่างๆ ในพื้นที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ศาสนา การข่าว เยาวชน และด้านอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวจักรสำคัญในการรายงานความเคลื่อนไหวในแต่ละหมู่บ้าน
ต้องยอมรับว่า 20 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ใต้ปีก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าและหน่วยรบพิเศษลพบุรี ที่ได้รับมอบหมายให้ทำลายการ “บ่มเพาะ” ประชาชนและเยาวชนเข้าสู่ขบวนการ แม้ทำหน้าที่ไม่ถึงขั้นล้มเหลว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่วางไว้
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้แต่ “โครงการเสาธง 5 นาที” ซึ่งเป็นกิจกรรมในโรงเรียนเป้าหมาย ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงอย่างมาก ที่ทำติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังจัดว่าไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ
มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความรุนแรงในชายแดนใต้ตั้งแต่สมัย “แม่ทัพต้น” พล.อ.ศานติ ศกุนตนาค จนถึงแม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบันคือ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ว่า มีความเข้มข้นของสถานการณ์อย่างมากและจะต่อเนื่องไปตลอดปี 2568 นี้ด้วย
การจะมองว่า ความรุนแรงในเวลานี้เป็นแค่ “วงรอบ” ตามแผนที่บีอาร์เอ็นวางไว้ก่อนแล้ว หรือหากจะระบุว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ “วิสามัญฯ” คนของขบวนการ สถานการณ์ความรุนแรงก็จะลดลงไปเอง เพราะไม่มีการตอบโต้จากกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น ประเด็นเหล่านี้น่าจะไม่ใช่แน่นอน
หรือจะบอกว่าบีอาร์เอ็นก่อเหตุถี่ยิบเวลานี้ เพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ หรือต้องการบีบบังคับให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ “เจรจาสันติภาพ” ตามคำขู่ หรือมาจากปัจจัยภายในที่การเข้าสู่ตำแหน่งของ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ ก่อให้เกิด “คลื่นใต้น้ำ” ระลอกใหญ่ตามมา
ทว่านั่นเป็นเพียง “ข้อสังเกต” ที่ต้องหาข้อเท็จจริงให้ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงเป้า ไม่ใช่ปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปต่อเนื่อง โดยไม่ทราบ “เป้าหมาย” ของบีอาร์เอ็นที่ถือเป็น “ต้นเหตุ” ของไฟใต้ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน
มีอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2568 นี้ และถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาไฟใต้ด้วยคือ “การเลือกตั้งนายก อบจ.และ ส.อบจ” ที่ในชายแดนใต้แข่งขันกันสูงมาก ซึ่งบีอาร์เอ็นได้ส่ง “สมาชิก” ลงสนามด้วยจำนวนหนึ่ง โดยหวังใช้เป็นแขนขาต่อสู้ทางการเมืองในระดับท้องถิ่นและเชื่อมไปถึงระดับชาติ
โอกาสที่บีอาร์เอ็นจะสร้างสถานการณ์หรือก่อเหตุรุนแรงต่อ “ผู้สมัครคู่แข่ง” และยังถือเป็นการบีบบังคับข่มขู่ประชาชนให้หันไปเลือกคนของฝ่ายตนเอง หรือกระทั่งให้ไปสนับสนุน “ทีมผู้บริหาร อบจ.” ที่มีสายสัมพันธ์กับขบวนการ
ทั้งหมดทั้งปวงคือเรื่องราวที่ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องวางแผนรับมือไว้ให้ได้อย่างดีที่สุด
ก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะไม่นำไปสู่ความรุนแรงต่อเนื่องเหมือนห้วงปี 2447-2550 ที่มีเหตุการณ์ “ฆ่าครู-ฆ่าพระ” หรือ “ฆ่าแล้วเผา” ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อมากมาย เพราะดูเหมือนว่า เวลานี้ บีอาร์เอ็นเองต้องการบีบบังคับให้ทั้ง “รัฐบาล” และ “หน่วยงานความมั่นคง” เดินตามเกมต้องการ