xs
xsm
sm
md
lg

รองปลัดกระทรวงพลังงานเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครศรีธรรมราช - รองปลัดกระทรวงพลังงานลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช หวังให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ช่วยลดค่าพลังงานในครัวเรือน พร้อมจ่อปรับแผนหนุนไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน

วันนี้ (9 ธ.ค.) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้นำคณะเยี่ยมชมติดตามการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ในอำเภอจุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งศูนย์ดังกล่าวดำเนินการทั้งด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงาน และการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่สำคัญคือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลิตเองได้มากกว่า 30 รายการ เช่น เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง ถัง 200 ลิตร ถังหมักก๊าซชีวภาพขนาด 200 ลิตร เตาแก๊สชีวมวล เตาซูเปอร์อั้งโล่ เตาเผาขยะ เตาน้ำมันเหลือใช้ เตาจรวด จักรยานสูบน้ำ บ่อหมักก๊าซชีวภาพ เครื่องสับย่อยวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ เป็นต้น

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ยังระบุด้วยว่า กระบวนการทางเลือกพลังงานทดแทนประชาชนสามารถดำเนินการได้เอง ซึ่งจะนำไปสู่การลดรายจ่ายในครัวเรือนด้านพลังงาน ในส่วนของกระทรวงพลังงานมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล องค์ความรู้เชิงพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารทำให้ข้อมูลทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวมีระบบรองรับชัดเจน


“ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยสามารถดึงเอาศักยภาพของแต่ละพื้นที่มาพัฒนาได้ เช่น พื้นที่เกษตรกรรมสามารถนำเอาชีวมวลต่างๆ ที่ได้จากแปลงเกษตรมาใช้ในครัวเรือน การพัฒนาพลังงานลม พลังงานน้ำของชุมชน หรือแม้กระทั่งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในภาคใต้มีศักยภาพเรื่องพลังงานน้ำ ขณะนี้เรากำลังปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานเป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำสำหรับชุมชน นี่คือทางเลือกพลังงานชุมชน เรามีต้นแบบอยู่หลายจุด การมีศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านการจัดการพลังงานและสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ บูรณาการการทำงานร่วมกันแบบมีชุมชนเป็นแกนกลาง” รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

นายประกอบ ชูไชยยัง หรือช่างเภา ประธานศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน กล่าวว่า วิกฤตพลังงานเป็นเรื่องสำคัญกระทบต่อครัวเรือนโดยตรง การถ่ายทอดความรู้ค่าพลังงานผ่านกระบวนการต่างๆ ของแผนพลังงานชุมชน ทำให้ทราบว่าแต่ละครัวเรือนมีรายจ่ายค่าพลังงานมากถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจากไฟฟ้า น้ำมัน แก๊ส การพัฒนาองค์ความรู้ในชุมชน ไปจนถึงระดับครัวเรือนในการปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่อลดรายจ่ายค่าพลังงานในครัวเรือน รวมถึงได้เรียนรู้การผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สามารถลดรายจ่ายได้ต่อปีหลายหมื่นบาท และยังสร้างนวัตกรรม เช่น เตาแบบต่างๆ สร้างรายได้กลับมาอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น