xs
xsm
sm
md
lg

หลังวิกฤตน้ำท่วม “ไฟใต้” จะกลับมาเดือดอีกระลอก! พร้อมร่วมส่งท้ายและต้อนรับปีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก เหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “เสียงปืน” และ “เสียงระเบิด” ห่างหายไปจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ไม่เฉพาะกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น มวลชนทุกระดับของบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะ “เปอร์มูดอ” และ “เปอร์มูดี” หรือเยาวชนชาย-หญิงต้องหันไปช่วยเหลือมวลชน เพียงแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์และผู้สื่อข่าวไม่ได้รับรู้ถึงการขับเคลื่อน “งานการเมือง” เพื่อสร้างมวลชนในครั้งนี้

เพราะผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้ความสำคัญเหตุ “พื้นผิว” เช่น มียิง ระเบิด หรือโจมตีที่ไหน คนเจ็บตายเท่าไหร่ ส่วนบีอาร์เอ็นจะมี “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี” หรือ “จัดตั้งองค์กร” ทั้งทางการทหารและการเมืองอย่างไร ซึ่ง “สื่อ” มักไม่ได้ให้ความสนใจ นี่จึงเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมไม่เข้าใจสถานการณ์ชายแดนใต้

รวมถึงเรื่องราวของภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และโดยเฉพาะ “องค์กรชาติตะวันตก” ที่เข้ามายุ่มย่ามกับความมั่นคงในชายแดนใต้ ในหน้าสื่อสังคมแทบไม่ทราบข้อเท็จจริงอะไรเลย ไม่รู้ว่าเรื่องราวของกลุ่มหรือคนเหล่านั้นเป็น “เท็จ” หรือ “จริง” หรือมีอะไร “แอบแฝง” หรือ “ซ่อนเร้น” หรือไม่

แม้ตอนน้ำท่วมกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นจำต้องหยุดปฏิบัติการ ทั้งที่การก่อเหตุรุนแรงคือยุทธวิธีที่ถือเป็น “จุดแข็ง” แถมช่วงนั้นเป้าหมายคือ “เจ้าหน้าที่” และ “สายข่าวรัฐ” ไม่ว่าจะพุทธหรือมุสลิมก็ชัดเจนมาก แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสให้ฉกฉวยในการทำ “สงครามข่าวสาร” เพื่อสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ

ตัวอย่างคือ ห้ามมุสลิมรับของแจกโดยเฉพาะ “ข้าวกล่อง” และ “ถุงยังชีพ” จากเจ้าหน้าที่เพราะ “ไม่ฮาลาล” แถมยัง “ฮารอม” หรือผิดหลักของศาสนาด้วย มีการนำภาพ “ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ที่รัฐตรังตานูและรัฐกลันตันของมาเลเซียมาเปรียบเทียบกับของพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้

ที่สำคัญมีการนำภาพ “อันวาร์ อิมราฮิม” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลงพื้นที่เยี่ยมปลอบขวัญผู้ประสบภัย และ “สั่งจ่ายงบประมาณ” ให้ 2 รัฐดังกล่าวนำไปแก้ไขสถานการณ์ทันที มาเปรียบเทียบกับ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีไทย ไม่แม้กระทั่งเดินทางมาเหยียบแผ่นดินชายแดนภาคใต้

มีเพียงสั่งการให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ “ต่างพรรค” และ “ต่างพวก” ให้ลงพื้นที่ชายแดนใต้มาแจกถุงยังชีพ ซึ่งเป็นรูปแบบของ “กิจการการเมือง” ที่ทำต่อกันมาตั้งแต่ในอดีตกาลจวบจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้งบีอาร์เอ็นยังให้เปอร์มูดีและเปอร์มูดอ รวมทั้ง “เยาวชนช่วยรบ” ทุกพื้นที่เรี่ยไรเงินประชาชนนำไปช่วยสมาชิกและกลุ่มมวลชนของตน มีการ “เปิดบัญชีธนาคาร” รับบริจาคอย่างเปิดเผย ซึ่งมากไปด้วยความมั่นใจว่า ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

ดังนั้น ไม่ว่าจะฝนตกหรือแดดออก บีอาร์เอ็นไม่เคยหยุดที่จะเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นทั้งทางการทหารและการเมือง รวมทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมในปฏิบัติการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ล่อแหลมที่ลงช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วม “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ได้จัดกองกำลังเข้มข้นเป็นพิเศษทำหน้าที่เฝ้าระวังและลาดตระเวนในพื้นที่สุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในชายแดนใต้

ที่สำคัญ ณ วันนี้ บีอาร์เอ็นมี “พลซุ่มยิง” หรือ “สไนเปอร์” ประจำการในแต่ละหน่วยอย่างน้อย 1 คน ดังนั้น หาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าประมาทเลินเล่อเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ ซึ่งช่วงหลังมานี้โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เป็นไปแบบฉาบฉวยอีกแล้ว แต่กลับเป็นการ “รุก” และ “ถอนตัว” ได้อย่างรวดเร็ว

ยิ่งเวลานี้พบความเคลื่อนไหว “แนวร่วม” ทั้งในหมู่บ้านเข้มแข็ง รวมถึงตามเชิงเขาหลังหมู่บ้าน จึงเชื่อได้ว่าหลังน้ำลดและทอดไปถึงห้วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นจะระดมก่อเหตุร้ายอีกครั้ง ซึ่งจะถึงขั้น “จยย.บอมบ์” และ “คาร์บอมบ์” หรือจะรุนแรงขนาดไหนต้องจับตากันต่อไป

ยุทธวิธีแบบ “มาเร็ว เคลมเร็ว” ทั้งการยิง ชิง จี้ ปล้น ลอบวางระเบิดและรุมโจมตี เดี๋ยวนี้บีอาร์เอ็นทำได้ภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งต้องถามเสียงดังๆ ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีศักยภาพและเตรียมพร้อมรับมือหรือแก้เกมในรูปแบบนี้ได้ในระดับไหน อย่างไร

เพราะหากแก้ไขไม่ได้ นั่นเท่ากับจะทำให้ความสูญเสียเกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้จบ ดังนั้นนับจากนี้ทุกหน่วยราชการต้องเคร่งครัดในการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะการตรวจตรายานยนต์เข้าออก พร้อมๆ กับกันเขตให้เหตุร้ายจากภายนอกส่งผลกระทบเข้าไปได้ให้น้อยที่สุด

ที่สำคัญ “อุปกรณ์ประกอบระเบิด” ถูกนำเข้าจากมาเลเซียเกือบทั้งหมด อาจเพียง “เหล็กเส้น” ที่ยังหาได้ในพื้นที่ เชื่อหรือไม่ว่าเรื่องนี้รัฐบาลไทยเรายังไม่เคยนำไปเจรจากับรัฐบาลมาเลเซียเลย มิพักพูดถึงการประสานไปยังระดับรัฐกลันตัน และที่น่าใจหายคือไม่เคยมีข่าวการตรวจจับอุปกรณ์ลักลอบนำเข้าเหล่านี้ได้ในชายแดนใต้

การประกาศ “ปิดท่าข้าม” ทั้ง 7 แห่งในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ของ “หัวหน้าตำรวจรัฐกลันตัน” จึงไม่ต่างจากการ “ตีปลาหน้าไซ” เพื่อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยว่าปล่อยให้มีการค้ายาเสพติดข้ามประเทศ ซึ่งประเด็นนี้มาเลเซียได้ไปเต็มๆ เพราะกันคนของเขาไม่ให้มาใช้เงินในสุไหงโก-ลกได้ด้วย

ความจริงแล้วทั้ง 7 ท่าข้ามดังกล่าวไม่ใช่จุดที่คนบีอาร์เอ็นใช้เข้าออกและขนอุปกรณ์ ถ้ามาเลเซียประสงค์ดีและต้องการช่วยไทยจริงต้องสั่งปิด “ท่าข้ามเถื่อน” ที่มีกว่า 200 จุดใน 3 อำเภอ โดยเฉพาะที่ อ.ตากใบ มีมากสุดถึง 120 จุด และล้วนเกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็น รวมถึงการค้ามนุษย์ ยาเสพติด น้ำมัน และสินค้าเถื่อนต่างๆ ด้วย

ดังนั้น ถ้า “ฝ่ายมาเลเซีย” และโดยเฉพาะ “รัฐกลันตัน” ไม่ได้ให้การสนับสนุนขบวนการบีอารอาร์ที่ปฏิบัติการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของไทยตามที่กล่าวอ้างมาตลอด ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องกล้าที่จะประกาศ “ปิดท่าข้ามเถื่อน” ทั้งหมดด้วยเพื่อแสดงถึงความจริงใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น