ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายเสียงประชาชนยื่นหนังสือจี้อธิบดีกรมโยธา เร่งก่อสร้างจัตุรัสเมืองตรังวงเงิน 43 ล้านบาท หลังครบสัญญาก่อสร้าง 700 วัน แต่ยังไม่เสร็จ ยังขอขยายเพิ่มอีก 121 วัน อ้างเหตุชดเชยวันเสียโอกาสทำงาน
วานนี้ (6 ธ.ค.) เครือข่ายเสียงประชาชน (สปช.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างจัตุรัสเมืองตรัง วงเงิน 43 ล้านบาท บริเวณหอนาฬิกาเมืองตรัง ถนนวิเศษกุล ภายในเขตเทศบาลนครตรัง หลังครบกำหนดก่อสร้าง 700 วันตามสัญญาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. แต่โครงการยังสร้างไม่เสร็จ โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้าง และมีบริษัท ตากใบการโยธา เป็นผู้รับจ้าง โดยก่อนหน้านี้ กรมโยธาธิการฯ ได้อนุมัติตามที่ผู้รับจ้างเสนอขอขยายเวลาการก่อสร้างเพิ่มอีก 121 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยอ้างเหตุวันเสียโอกาสในการทำงาน (Daily report)
จากการก่อสร้างที่ล่าช้าเป็นอย่างมากนั้น ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนชาวจังหวัดตรังได้รับความเดือดร้อน ฝนตกรถติด คอนกรีตที่เททำถนนใหม่ไปแล้วบางส่วนกลับชำรุดเป็นหลุมอันตราย พื้นที่การก่อสร้างไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการวางวัสดุอุปกรณ์ส่งผลกระทบต่อการจราจร การปิดกั้นการจราจรมีความสับสนและไม่ปลอดภัย ขั้นตอนการก่อสร้างทำๆ หยุดๆ ใช้คนงานน้อย โดยกรมโยธาธิการให้ข้อมูลว่า ฝ่ายผู้รับจ้างรายงานว่า ขณะนี้ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 80% ซึ่งค้านต่อสายตาชาวบ้านผู้พบเห็น เนื่องจากยังเหลือเนื้องานตามแบบก่อสร้างอีกมาก
ทั้งนี้ นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยโยธาธิการจังหวัดตรัง ผู้แทนสำนักช่างเทศบาลนครตรัง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนบริษัทตากใบการโยธา ผู้รับจ้าง ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา ข้อห่วงใยและข้อเรียกร้องจากภาคประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้รับหนังสือจากภาคประชาชน ซึ่งนอกจากหนังสือจะเร่งรัดให้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วแล้ว ยังได้ขอข้อมูลรายละเอียดโครงการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อประโยชน์สาธารณะในการติดตามตรวจสอบโครงการ ส่งถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยต่อไป
ภายหลังยื่นหนังสือ ประธาน สปช.ได้ประกาศขอตามติดหนึบโครงการให้เสร็จตามที่รับปากไว้กับประชาชน โดยกล่าวว่า ภาคประชาชนห่วงใยต่อโครงการต่างๆ ที่ก่อสร้างไม่เสร็จ ที่ปรากฏอยู่ทั่วจังหวัดตรัง ซึ่งนอกจากจะเสียหายต่อภาษีของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังถือเป็นการทำลายโอกาสของบ้านเมืองและชาวตรัง โดยเฉพาะโครงการจัตุรัสเมืองตรังนี้ สัญญาก่อสร้างยาวนานถึง 700 วัน โดยหมดสัญญาไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งที่งานดูแล้วพื้นที่การก่อสร้างมีเพียงแค่ไม่เกิน 5 ไร่ และเป็นเพียงการทำถนนกับปรับภูมิทัศน์เท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำๆ หยุดๆ จนทำไม่เสร็จ และยังมีการขยายวันทำงานออกไปอีก 121 วัน สิ้นสุดวันที่ 28 มีนาคม 2568 ดังนั้นภาคประชาชนจะติดตามทุกฝีเก้า จนกว่าจะสร้างเสร็จตามที่ขอขยาย
“พื้นที่ตรงนี้มันเป็นหน้าตาของบ้านเมือง ใครไปใครมาก็ต้องผ่านตรงนี้ แต่ทุกวันนี้มันมีสภาพเป็นเหมือนเล้าเป็ด ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย กระทบการจราจร สร้างนานถึง 2 ปี ก็ยังไม่เสร็จ ทำงานไม่เรียบร้อยเหมือนสร้างเล้าเป็ดอยู่กลางเมือง แล้วยังขอขยายอีก เหมือนกับเด็กทารก เกิดและโตมา จนอายุได้ 2 ปี เดินได้แล้ว แต่จัตุรัสเมืองตรังยังสร้างไม่เสร็จ ดังนั้นรอบนี้ถ้าไม่เสร็จอีก ชาวบ้านจะไม่ยอมแล้ว” นายรัตน์ กล่าว
ด้านนายทรงกลด กล่าวภายหลังรับหนังสือจากภาคประชาชนว่า สำหรับโครงการจัตุรัสเมืองตรัง ที่ก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญา 700 วันนั้น เมื่อครั้งที่ตนมาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พอได้สังเกตเห็นพบว่า การทำงานมีการล่าช้า กระทั่งมาเป็นผู้ว่าฯ ได้ติดตามสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องตลอด พบปัญหาคือการก่อสร้างไม่ต่อเนื่อง ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้จะเป็นโครงการที่มาจากส่วนกลาง โดยที่ทางหน่วยงานส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาได้โดยตรง แต่พร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการประสานการแก้ปัญหา
“ต้องขอขอบคุณทางประชาชนที่ได้ร่วมกันสอดส่องติดตามปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง โดยเฉพาะการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกิดข้อติดขัด เพราะทุกอย่างมาจากภาษีประชาชน สำหรับเรื่องนี้ทั้งจังหวัดและโยธาธิการจังหวัด ยินดีรับฟังทุกปัญหาและพร้อมจะเร่งส่งต่อข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
นายทรงกลด กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้รับข้อแนะนำที่ดีจากเครือข่ายประชาชนในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง โดยเฉพาะข้อกังวลในเรื่องของการล้มของต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากมีการตัดคันดินบริเวณเนินศาลากลางเพื่อทำการก่อสร้าง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างจากเทศบาลนครตรังยินดีที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการป้องกันการล้มของต้นไม้ใหญ่ เช่น การค้ำยันหรือการยึดโยงบางอย่าง เพราะเรื่องความปลอดภัยต้องมาก่อน อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นจะเกิดความเสียหายอย่างมาก