นราธิวาส - รองนายกฯ อนุทิน พร้อม รมช.มหาดไทย และคณะเดินทางถึง จ.นราธิวาส ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในชายแดนใต้ เผยให้ ปภ.ทำเรื่องขยายวงเงินช่วยเหลือจาก 20 ล้านเป็น 50 ล้านบาท
วันนี้ (29 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อประชุมรับฟังรายงานสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนจาก ผวจ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
นายอนุทิน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหาวิธีการสนับสนุนภารกิจของพื้นที่ที่ต้องต่อสู้กับสถานการณ์น้ำท่วม โดยได้รายงานภาพรวมของพื้นที่ไปยังที่ประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ ให้นายกรัฐมนตรีทราบในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งนายกฯ มีความห่วงใยเรื่องอาหารสด ที่ไม่สามารถขนส่งได้ เกรงจะไม่สามารถนำมาประกอบอาหารและส่งต่อให้ผู้ประสบภัยได้ทัน ได้ให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดได้หาแนวทางในการช่วยเหลือเบื้องต้นรองรับไว้
นายอนุทิน กล่าวว่า ในเรื่องของเงินช่วยเหลือ ได้ให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำเรื่องขอขยายวงเงินทดรองสถานการณ์ฉุกเฉินภัยพิบัติ จาก 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท คาดว่ากรมบัญชีกลางจะเร่งให้ความเห็นชอบโดยเร็ว และในพื้นที่ ขอให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจะได้เร่งใช้เงินช่วยเหลือตามระเบียบที่กรม ปภ. มีอยู่ต่อไป ทั้งนี้ ความช่วยเหลือส่วนใหญ่ขณะนี้ คือความต้องการเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์และเจ็ตสกีเพื่อใช้อพยพประชาชน
สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส ล่าสุดฝนยังคงตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่อง ส่งผลทำให้แม่น้ำสายหลักทั้ง 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก มีปริมาณน้ำฝนตกสะสมลงมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ไหลบ่าล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนขยายเป็นวงกว้าง โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วม ณ วันนี้ ในพื้นที่ 13 อำเภอ ประสบภัยแล้ว 77 ตำบล 553 หมู่บ้าน 52 ชุมชน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 66,374 ครัวเรือน รวม 242,355 คน
พื้นที่น่ากังวลขณะนี้ คือ พื้นที่ริมแม่น้ำโก-ลก พบว่า ได้มีมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรีจากพื้นที่ อ.สุคิรินได้ไหลทะลักลงมาบรรจบในแม่น้ำโก-ลก เพื่อระบายลงสู่ปากอ่าวทะเลด้านอำเภอตากใบ ทำให้มีปริมาณน้ำล้นตลิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ไหล่บ่าเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนตลอดแนวริมตลิ่งของแม่น้ำโก-ลกทั้ง 2 ฟาก ทั้งฝั่งไทยด้าน จ.นราธิวาส และเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ของประเทศมาเลเซีย