ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “พะยูน” ย้ายเมืองหลวง เข้าภูเก็ต มีกว่า 30 ตัว แต่อยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งจากเครื่องมือประมง เรือท่องเที่ยว เรือประมง แหล่งอาหารที่ไม่เพียงพอ พบหลายตัวถูกเรือชน ขณะที่พะยูนอ่าวบางขวัญ ติดคราบน้ำมัน แนวโน้มยังแย่
จากกรณีแหล่งอาศัยเดิมของพะยูนในพื้นที่ จังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน ได้รับความเสียหาย จากภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ทำให้พะยูนต้องอพยพออกจากเมืองหลวงเดิมที่ จ.ตรัง มาหากินที่เมืองหลวงใหม่ที่ จ.ภูเก็ต เนื่องจากพบว่ามีหลายพื้นที่ที่ยังมีแหล่งหญ้าทะเลพอที่จะเป็นอาหารได้ ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) พร้อมอาสาสมัครเครือข่ายจากต่างประเทศ และนักวิทยาศาสตร์พลเมือง พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีพะยูนอพยพมาอยู่ที่ภูเก็ตแล้วกว่า 50 ตัว โดยกระจายไปยังจุดต่างๆ เช่น อ่าวบางโรง ต.ป่าคลอก หาดราไวย์ ต.ราไวย์ อ่างตังเข็น ต.วิชิต ต.ฉลอง อ่าวบางขวัญ ท่าฉัตรไชย
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพะยูนจะอพยพมาเจอหญ้าทะเลที่พอจะเป็นอาหารให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ พบว่า สถานการณ์การของพะยูน อยู่ในภาวะเสี่ยงตลอดเวลา ทั้งจากเครื่องมือการทำประมง เรือประมง เรือท่องเที่ยว อย่างเช่น ที่เกิดกับพะยูน ที่เข้ามากินหญ้าทะเลที่อ่าวตังเข็นมาแล้ว ซึ่งเกือบติดอวนของชาวประมง บางตัวถูกเรือชน มีรอยถลอกขนาดใหญ่ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาคราบน้ำมันที่อ่าวบางขวัญ ท่าฉัตรไชย พบว่ามีพะยูนอย่างน้อย 2 ตัว ติดคราบน้ำมันที่ส่วนหัวใกล้กับจมูก ผ่านมา 2 อาทิตย์แล้ว คราบยังไม่ออกจากหน้าเลย ซึ่งจากการสำรวจของทางเจ้าหน้าที่พบว่า ทุกๆ 2-5 นาที พะยูนจะลอยตัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ และถ้าคราบน้ำมันลอยไปอยู่เหนือจุดที่พะยูนกินหญ้าทะเลอยู่ หรือ อยู่ในเส้นทางการว่าย เมื่อพะยูนลอยขึ้นมาหายใจ พะยูนจะได้คราบน้ำมันติดตัวไปด้วย
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาใหญ่ที่รออยู่ คือ เรื่องของปริมาณหญ้าทะเล ที่อาจจะไม่เพียงพอ ต่อความต้องการ เนื่องจากจำนวนหญ้าทะเลที่มีอยู่ในส่วนของภูเก็ต บางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่จะมีความพยายามในการทำแปลงอาหารทดลอง เพื่อเป็นอาหารเสริมในพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม แต่อาหารเหล่านั้นไม่ใช่อาหารหลัก เมื่อแหล่งหญ้าทะเลหมด พะยูนจะว่ายน้ำไปหาแหล่งหญ้าทะเลแหล่งใหม่ ซึ่งจากการตรวจสอบการอพยพที่ผ่านมา หลายตัวมีการทยอยย้ายถิ่นจากทางตอนเหนือ ลงมาตอนใต้ ฝั่งตะวันออก หญ้าทะเลไม่เพียงพอ ไม่สามารถรองรับจำนวนนั้นได้
จุดหมายต่อไปในการหาหญ้าทะเลช่างยาวไกล เพราะเส้นทางต่อไปคือฝั่งตะวันตก ที่เป็นทะเลเปิด ซึ่งเป็นเส้นทางยาวไกลมาก กว่าจะถึงแหล่งหญ้าทะเลแห่งใหม่ ซึ่งในการว่ายน้ำผ่านเส้นทางดังกล่าวจะต้องสูญเสียพะยูนอีกกี่ตัว จากการตรวจสอบพะยูน 2 ที่พบล่าสุด ที่หาดกมลา หาดกะรน พบว่าเส้นทางที่จะไปคือฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งที่คาดว่าจะมีการอพยพต่อไป
ขณะที่ ดร.ธร ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว บางส่วน ว่า ในอดีตพะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว ปัจจุบัน เดือนละ 3.75 ตัว (2566-67) ถือว่าผิดปรกติอย่างมาก สาเหตุหลักคือโลกร้อนเปลี่ยนแปลงปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทำให้หญ้าทะเลลดลงจนวิกฤต ยังมีสาเหตุจากมนุษย์ในบางพื้นที่ เช่น ขุดลอกร่องน้ำ กัดเซาะชายฝั่ง พะยูนเต็มวัยต้องการหญ้าทะเล 13-16 ไร่ ปกคลุมพื้นที่อย่างน้อย 60% ในการดำรงชีวิตอยู่ให้พอเพียง ปัจจุบัน หญ้าทะเลที่สมบูรณ์ระดับนั้นแทบไม่มีเหลือในตรัง กระบี่ สตูล พะยูนจึงต้องตระเวนกินไปเรื่อยๆ จนหลายตัวเข้ามาในภูเก็ต อ่าวพังงา
ในภูเก็ต อ่าวพังงาก็เริ่มมีปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในบางจุด หญ้าระดับ 60% หาแทบไม่ได้ พะยูนต้องแย่งกัน ตัวที่อ่อนแอก็อด ป่วย ตาย พะยูนขึ้นเหนือไปต่อไม่ได้ เขตสุดท้ายคือสารสิน เลยจากนั้นเป็นชายฝั่งเปิด ระยะทาง 45 กม. กว่าจะถึงแหล่งหญ้าทะเลที่ทับละมุ ถ้าจำเป็น พะยูนเดินทางได้ 20-30 กม. แต่เธอชอบน้ำนิ่ง พื้นที่เป็นอ่าว มีหญ้ากินเรื่อยๆ โอกาสที่พะยูนจะไปถึงทับละมุจึงยากมาก เมื่อสุดเขตที่นี่ พะยูนอพยพจึงมารวมกันที่ภูเก็ตตะวันออกและอ่าวพังงา ยังคงมีบางส่วนเหลือในตรัง กระบี่ มีบ้างไปที่สตูล อาหารที่เหลือน้อยทำให้พะยูนผอม ป่วย อ่อนแอ และตาย ยังมีภัยคุกคามอื่นๆ จากมนุษย์ ที่ชั่วสุดคือล่าเอาเขี้ยว (ต้องเร่งสืบสวนจับกุม โพสต์ขายในโซเชียลยังมีอยู่เลย) ที่เหลือคือสัญจรทางน้ำ ทำประมง ต้องพูดคุยกับพี่น้องแถวนั้น เพราะพวกเขาไม่ได้ทำผิด พะยูนเข้ามาหาเอง ต้องหาทางบริหารจัดการร่วมกัน
เมื่อหญ้าทะเลลดลง โดยเฉพาะหญ้าคาทะเล ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบแบบที่ไม่เคยเจอ เช่น กรณีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน การเพิ่มขึ้นอย่างมากของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในแหล่งหญ้าทะเล อาจเชื่อมโยงกับการเจ็บป่วยของพะยูนเมื่อกินสาหร่ายกลุ่มนี้มากเกินไป สาหร่ายกลุ่มนี้มีอยู่แล้วในแนวหญ้า ทั้งคู่ใช้ธาตุอาหารในน้ำ แต่เมื่อหญ้าทะเลตายเกือบหมด ธาตุอาหารเหลือเฟือ สาหร่ายจึงเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว พะยูนหรือ “หมูดุด” จะไถกินไปเรื่อย อาจกินสาหร่ายเข้าไปเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบ เช่น เป็นพิษ (ยังต้องศึกษาต่อ) หากพะยูนตายด้วยอัตรานี้ เชื่อว่าในอันดามันปีหน้าจะเหลือน้อยกว่า 100 ตัว และจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ
การสำรวจพะยูนทำได้ยาก ต้องทำพร้อมกันหลายที่ แต่เท่าที่เจออยู่ตอนนี้ มีหลักฐานเป็นภาพถ่าย มีแค่ไม่เกิน 30 ตัว (คงมีมากกว่านี้ แต่ยังไม่เจอ) การช่วยพะยูนเป็นกรณีฉุกเฉิน ทุกอย่างลองผิดลองถูก แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะสั้น (1 ปี) ให้อาหารเสริมพะยูน เช่น ผักชนิดต่างๆ พะยูนบางตัวเริ่มสนใจมากิน แต่ยังไม่ถึงขั้นสำเร็จเต็มร้อย ยังมีอุปสรรค เช่น ปลาแย่งกิน หวงถิ่น ไล่พะยูน ยังมีแนวคิดช่วยพะยูนผอม/ป่วยมาไว้ในพื้นที่ปิด เพื่อให้คุณหมอดูแล ให้อาหารเพียงพอ เช่น มาไว้ในกระชัง ตอนนี้กรมอุทยาน/คณะประมงกำลังวางแผนร่วมกัน แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน/เป็นปี
การออกมาตรการต่างๆ เร่งจับคนล่า พูดคุยกับพี่น้อง เป็นเรื่องที่ทำได้เลย และตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งทำ แต่ต้องดูผลที่ออกมาต่อไป ระยะยาว (1-5 ปี หรือกว่านั้น) เร่งศึกษาหาทางปลูกหญ้าทะเลในทุกรูปแบบ เช่น ชนิดต่างๆ กั้นแปลงต้นพันธุ์ ปลูกในธรรมชาติ ในบ่อ #หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน คณะประมง มก. กำลังทำอยู่ กรมทะเลและเครือข่ายอื่นๆ พยายามเร่งทำอีกเช่นกัน ตอนนี้เท่าที่ทราบเริ่มมีคอกกั้นแปลงหญ้าที่ตรัง
อัปเกรดความสามารถในการสำรวจ/ช่วยชีวิตพะยูน ตอนนี้หน่วยงานกำลังของบ แต่คงไม่จบในเวลาอันสั้น ตอนนี้ต้องขอแรงอาสาสมัครช่วยกันบินโดรนไปก่อน สร้างเครือข่ายในพื้นที่ ขยายผลให้ทุกคนมีส่วนช่วยสังเกต แจ้งข่าว อนุรักษ์ ขยายผลประเด็นนี้ไประดับโลก เพราะเกี่ยวกับผลกระทบโลกร้อน ecosystem collapes ความหลากหลายทางชีวภาพล่มสลาย สัตว์หายากกำลังตาย COP29 กำลังเน้นเรื่อง loss & damage มีกองทุนเงินมหาศาล มีผู้เชี่ยวชาญ เราสมควรประกาศตนว่าเราโดนเยอะ และขอความช่วยเหลือในส่วนนี้
สรุปตลอดหลายปีว่าการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนทำลายระบบนิเวศ เป็นเรื่องยากมากๆๆๆ เพราะเราแทบไม่รู้อะไรเลย ต้องเตรียมตัวหลายด้านต้องทำงานหลายอย่าง ปัจจุบันเกิดแล้ว เริ่มพินาศแล้ว แม้จะเศร้าว่าเคยบอกแล้วบอกอีก สุดท้ายก็มาลงเอยอย่างนี้ แต่เราต้องสู้ทุกทางที่ทำได้ ส่งกำลังใจให้ทุกคนทุกหน่วยงานทุกอาสาสมัครที่พยายามทำภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จนอยากร้องกรี๊ด พะยูนตายแล้วไง? พะยูนมีประโยชน์อะไร? ตอบคำถามนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามา 30-40 ปี ตัดสินใจว่าจะไม่ตอบอีกแล้ว เพราะมุมมองเราอาจไม่เหมือนกัน มนุษย์มีประโยชน์อะไร ต่อพะยูน ต่อโลก หากเรามี เราค่อยตั้งคำถามเช่นนี้ ไปถามสัตว์อื่นๆ