xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน “นครโมเดล” นิเวศและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองกำลังเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราชเสร็จสิ้น ผลเป็นไปตามกระแสกระหึ่มเมืองมาก่อนหน้านี้ “วาริน ชิณวงศ์” ว่าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จากสายพรรคภูมิใจไทย เอาชนะ “กนกพร เดชเดโช” อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช

กนกพร เดชเดโช” ไม่สามารถรักษาเก้าอี้เดิมไว้ได้ และแม้ว่า เธอจะไม่ประกาศตัวเป็นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่การสนับสนุนในสายพรรคประชาธิปัตย์ สายสัมพันธ์มีความชัดเจน ลูกชายของเธอคือ “ชัยชนะ เดชเดโช” เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และยังมี “พิทักษ์เดช เดชเดโช” อีกคน ทั้งคู่เป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช ไม่นับรวมการสนับสนุนจาก ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคเดียวกันอีกอย่างน้อย 3 คน ส่วนอีก 1 คนนั้นอยู่ในสถานะสงบนิ่ง

ทำไมถึงแพ้การเลือกตั้ง ถอดบทเรียนโควธใหญ่มีคำถามหลายประเด็น การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหลังจาก “กนกพร” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัด เพียงราว 2 เดือนเศษก่อนหมดวาระ ที่อื่นดูเหมือนจะไม่ยาก แต่ที่นครศรีธรรมราชไม่ใช่เรื่องง่าย กลายเป็น “กนกพร” ติดหล่มการลาออกเสียเอง ถูกวิพากษ์จนยากจะชี้แจงสวนกระแสคำถาม “ลาออกทำไม” “ลาออกแล้วกลับมาสมัครใหม่ทำไม” “ต้องใช้งบเลือกตั้งซ้ำซ้อนกับ ส.อบจ.อีกครั้ง” เป็นเพียงคำถามพื้นฐานแต่กลายเป็นเรื่องชี้แจงลำบาก

นอกจากนี้ เรื่องการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการทำถนนของ อบจ.นครศรีธรรมราชอย่างขนานใหญ่ ถนนบางสายแม้อยู่ในสภาพปกติแต่กลับถูกปูทับอีกชั้น ก่อให้เกิดคำถามตามมาอีกทำเพื่ออะไร การกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 315 ล้านบาท การจ่ายขาดเงินสะสมอีกอย่างน้อย 300 ล้านบาทไปเพื่อการทำนองนี้ ถูกตั้งข้อสังเกต ผนวกกับประเด็นของกลุ่มธุรกิจรับเหมาที่โยงใยวนไปวนมาอยู่กับคนใกล้ตัว รวมทั้งพฤติกรรมของคนใกล้ชิดที่โยงไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งทำให้กระแสเป็นลบถาโถมไปยัง “บ้านใหญ่” ตลอด 2 เดือน

อีกเรื่องใหญ่คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “ชัยชนะ เดชเดโช” เป็นคีย์แมน กลายเป็นกระแสตอกย้ำอารมณ์ผู้นิยมพรรคประชาธิปัตย์มาแต่ดั้งเดิม เกิดความขุ่นเคืองไม่น้อยมองว่า “ชวน หลีกภัย” และบรรดาผู้อาวุโสเบอร์ใหญ่ดั้งเดิมที่พวกเขาศรัทธาในพรรคถูกข้ามหัวและเชื่อว่าถูกเด็กรุ่นหลังกระทำ เป็นเรื่องที่ชาวประชาธิปัตย์เนื้อแท้แต่เดิมถือสาเป็นอย่างมาก กระแสการไม่เอาประชาธิปัตย์ ทิ้งประชาธิปัตย์จึงเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน กอปรกับพฤติกรรมบางอย่างของ ผู้นำบ้านใหญ่เองทำให้กระแสการปฏิเสธบ้านใหญ่เกิดขึ้น หรือมุมมองการเมืองเป็นเรื่องของครอบครัว ลุง พ่อ แม่ พี่น้อง และอีกหลายคนในวงศ์วานกำลังตามมากลายเป็นพลังลบ ถาโถมกลับไปสู่ประชาธิปัตย์

“นั่นคือ “นิเวศการเมืองระหว่างบ้านใหญ่ ชาวนครศรีธรรมราช และพรรคประชาธิปัตย์ กำลังเปลี่ยนแปลงไป นับจากนี้ไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว!

ส่วน “วาริน ชิณวงศ์” จากประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช สู่สายการเมืองในร่มเงาของพรรคภูมิใจไทย ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะหันมาลงสมัครในตำแหน่งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช แต่จุดพลิกผันคือการลาออกของ “กนกพร เดชเดโช” เป็นจุดเริ่มต้นการลงมาในสนามนี้กลายเป็นเรื่อง “ถูกที่ ถูกเวลา” กระแสเป็นลบจากกนกพรกลับไหลมาบวกเพิ่มขึ้นที่วารินอย่างมีนัยสำคัญ ผนวกกับโจทก์เก่าของกนกพร และบ้านใหญ่มาร่วมมือกับวารินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมิติใหม่การณรงค์หาเสียงที่กล้าประกาศชัดเจนว่า “ไม่มีการซื้อเสียง” ยิ่งทำให้มีแรงหนุนเพิ่มขึ้น

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดียดูเหมือนว่า ในออฟฟิเชียลของวารินไม่ได้โดดเด่นอะไรมากมาย แต่แนวร่วมของวารินกลับปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนมีบทบาทอยู่ในสังคม กล้าเปิดหน้าการสนับสนุน ไม่มีใครกลัวการข่มขู่กดดัน สังคมออนไลน์ของชาวนครศรีธรรมราชหันมาสนใจอย่างต่อเนื่องและมีกระแสเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และเป็นกระแสของการเมืองท้องถิ่นผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไม่เคยมีเช่นนี้มาก่อน

พื้นที่ชี้ขาดและทำให้ “วาริน” มีคะแนนนำห่างไปจากกนกพร คือ อ.ทุ่งสง กนกพร 24,106 วาริน 36,212 และเมืองนครศรีธรรมราช กนกพร 38,044 วาริน 62,371 พื้นที่เศรษฐกิจใหญ่ถึงราว 4 หมื่นคะแนน การเทคะแนนเช่นนี้อาจสะท้อนบางอย่าง เป็นความหมายใหม่จากการตัดสินใจเลือกตั้งได้ทั้งกระแสส่วนตัว ปูมหลัง และการรู้จักมักคุ้น หลายคนบอกว่าการตัดสินเลือกแม้จะไม่เคยพบตัวจริง ไม่เคยพูดคุย ไม่รู้จักมาก่อน แต่ตัดสินใจเลือกเพราะรู้จักอีกฝ่าย ประโยคนี้อาจสะท้อนมิติและวิธีคิดได้อย่างลึกซึ้ง การตัดสินใจไม่ใช่พรรคการเมือง แต่อยู่ที่ “คน”

คู่พรรคการเมืองที่ถูกจับตาในสนามนี้คือ “บ้านใหญ่พรรคประชาธิปัตย์” และภูมิใจไทย แม้จะเป็นสนามนายก อบจ. แต่พฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวนครศรีธรรมราชกำลังสร้างความหวั่นไหวให้แก่พรรคประชาธิปัตย์

สังคมใหม่เต็มไปด้วยหู ตา และสมาร์ทโฟน โลกเสมือนซ้อนอยู่บนโลกจริง การตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง “พรรคการเมือง” ไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกแล้ว นครศรีธรรมราชกำลังเป็น “นครโมเดล” อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น