xs
xsm
sm
md
lg

จาก “คดีตากใบ” ถึง “สังหารนายกเล็กรือเสาะ” ความสูญเสียและผลสะเทือนใหญ่ยิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

แม้จบไปแล้วสำหรับ “คดีตากใบ” ที่ขาดอายุความ เพราะไม่สามารถนำผู้ถูกกล่าวหามาขึ้นศาลตามหมายจับได้ แต่ในความรู้สึกของคนกลุ่มหนึ่งกลับไม่จบ แถมยังถูกนำมาไปใช้เป็นเงื่อนไขให้ “บางพรรคการเมือง” หรือ “บางองค์กร” แสวงหาประโยชน์ได้อีกยาวไกล

เช่นมีการตั้ง “คณะทำงาน” เพื่อศึกษาผลกระทบจากกรณีการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ อ้างว่า ต้องการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นการ “ถอน” หรือ “เติม” ฟืนเข้าไปในกองไฟใต้กันแน่

ขณะที่กรุ่นควันคดีตากใบยังไม่ทันจางหาย กลับเกิดกรณีสังหาร “นายกอาร์ม” นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลรือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งยังดำรงตำแหน่งอื่นอีก ทั้งเป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัดนราธิวาส และเป็นที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนแฮนด์อินแฮนด์ ซึ่งถือเป็น “ผู้นำไทยพุทธ” ที่เป็นที่ยอมรับของชุมชนมุสลิมมาอย่างยาวนาน

นับเป็นความโหดหี้ยมของ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ที่ใช้แผน “ยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว” เพราะจากการสืบสวนทางลับพบว่า เป็นฝีมือของกลุ่ม “อัมดัน แมเราะ” หัวหน้าพลาตง ที่ฝั่งตัวอยู่ใน อ.รือเสาะ กลุ่มนี้ที่มีกองกำลังติดอาวุธเคลื่อนไหวในหลายหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ที่พวกเขากุมสภาพได้อย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ กองกำลังติดอาวุธ 1 พลาตงของอัมดัน แมเราะ มีจำนวน 36 นาย และมีสต๊าฟหรือผู้ช่วยดำเนินการอีก 12 นาย รวมแล้วเป็น 48 นาย นอกจากทำหน้าที่สร้างและขยายมวลชนในพื้นที่แล้ว ยังเคลื่อนไหวและปฏิบัติการก่อเหตุร้ายครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

วัตถุพยานชี้ชัดคือ ปลอกกระสุนในที่เกิดเหตุถูกยิงจากปืนเอเค 102 ที่ปล้นไปจากชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) แห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส ปืนกระบอกนี้เคยก่อคดียิงเจ้าหน้าที่ ประชาชน และพระสงฆ์ใน อ.รือเสาะมาแล้ว 23 คดี ซึ่งกรณีสังหารนายกอาร์มนับเป็นคดีที่ 24 และเชื่อว่าปืนกระบอกนี้จะยังสร้างคดีตามมาได้อีกต่อเนื่อง

ที่บีอาร์เอ็นเลือกปลิดชีพ “นายกอาร์ม” ผู้นำที่สังคมยอมรับว่าเป็น “คนดี” น่าจะมาจากการที่เขาเป็น “คนไทยพุทธ” ที่ครองจิตใจมุสลิมในพื้นที่ได้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะบรรดา “มุสลิมะฮ์” กลุ่มแฮนด์อินแฮนด์ที่สร้างงานและสร้างรายได้จากการตัดเย็บเสื้อผ้า

ในการบริหารท้องถิ่น นายกอาร์มได้สะสมคุณงามความดีมาได้ตลอด โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการพัฒนาได้อย่างครอบคลุม ซึ่งประเด็นนี้จัดว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการแผ่อิทธิพลเข้าไปยึดพื้นที่เขตเทศบาลตำบลรือเสาะ รวมถึงการสร้างและขยับขยายมวลชนของฝ่ายบีอาร์เอ็น

ที่ผ่านมา เคยมีเสียงร่ำลือหลายครั้งว่า นายกอาร์มต่อต้านการรุกคืบทางมวลชนของ “ปีกการเมือง” บีอาร์เอ็น เช่น ไม่ยอมให้กลุ่มวัยรุ่นต้องการที่ “ชูธงชาติปาเลสไตน์” เข้าร่วมริ้วขบวนการแห่ในการแข่งขันกีฬาในพื้นที่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่แกนนำในพื้นที่ของบีอาร์เอ็นมาตลอด เป็นต้น

แม้นายกอาร์มเคยประกาศว่า จะวางมืองานการเมือง เพื่อไปทุ่มเวลาให้ตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาจังหวัดนราธิวาส พร้อมๆ กับหันไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแฮนด์อินแฮนด์ แต่การสนับสนุน “รองนายกฯ” ที่แม้จะเป็นมุสลิมที่เป็นคนของตนขึ้นมาแทน สิ่งนี้ยังเป็นที่ขัดตาขัดใจแกนนำบีอาร์เอ็นในพื้นที่อยู่ดี

แล้ว “ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว” อย่างไร ประการแรก การสังหารนายกอาร์มย่อมสะเทือนให้ผู้ถูกวางตัวไว้อาจไม่กล้าลงสนามเลือกตั้งกลางปี 2568 เพราะมีข่าวว่ารองนายกฯ เองก็เคยถูกเลือกให้เป็นเป้าด้วย ซึ่งเวลานี้ถึงกลับขอ “รถกันกระสุน” จากญาติผู้ใหญ่อดีต ส.ว.มาใช้

ประการที่สอง ว่ากันว่าบีอาร์เอ็นเตรียมคนของตนเองลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศบาลตำบลรือเสาะไว้แล้ว ซึ่งคอการเมืองในพื้นที่รู้ดีว่าเป็นใคร

ประการที่สาม ถ้าเป็นไปตามแผนคือ รองนายกฯ ไม่กล้าลงสมัคร นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ปีกการเมืองบีอาร์เอ็นยึดครองสนามเลือกตั้งนี้ได้

ประการที่สี่ บีอาร์เอ็นสร้างเครือข่าย “เปอร์มูดี” หรือกลุ่มเยาวชนสตรีเตรียมไว้เข้ายึดครองกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแฮนด์อินแฮนด์แล้ว

ประการที่ห้า ความตายของนายกอาร์มจะทำให้คนไทยพุทธในพื้นที่หมดที่พึ่ง จนอาจต้องมีการโยกย้ายออกนอกพื้นที่ ซึ่งนั่นทำให้ง่ายต่อการได้คะแนนเสียงเพื่อยึดครองพื้นที่
และประการสุดท้าย กระทบถึง “การเมืองท้องถิ่นในภาพรวม” ด้วย ไม่ว่าจะในพื้นที่ อ.รือเสาะ หรือ จ.นราธิวาส และยังหมายรวมถึงอีก 2 จังหวัดคือ ปัตตานี และยะลา เวลานี้ “คนไทยพุทธ” นั่งบริหารเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และ อบต.ก็มีอยู่น้อยเต็มทีแล้ว ต่อไปมีแต่จะลดลงไปอีกจากกรณีสังหารนายกอาร์ม

เหล่านี้คือเหตุที่ทำให้บีอาร์เอ็นต้องปลิดชีพนายกอาร์มโดยใช้ “ปืนของกลาง” เพื่อต้องการสร้าง “เงื่อนไขทางการเมือง” และผสมโรงด้วยการเป็น “เรื่องของความมั่นคง” ส่วนคดีความจะเดินต่อไปอย่างไร หรือมีเงื่อนปมอะไรหรือไม่ เป็นหน้าของฝ่ายตำรวจเป็นหลัก

คดีสังหารนายกอาร์มจะมี “หนอนบ่อนไส้” หรือ “สายข่าว” หรือ “แนวร่วม” เกี่ยวข้องอย่างไร วันนี้การสอบสวนและพยานหลักฐานยังไม่ถูกเปิดเผย ส่วน “มือลั่นไกและผู้เกี่ยวข้องรวม 4 คน” ที่มีภาพอยู่ในกล้องวงจรปิดวิสาหกิจแฮนด์อินแฮนด์ ตอนนี้พวกเขาหลบไปกินโรตีอยู่ที่รัฐกลันตันของมาเลเซียกันหมดแล้ว

ที่สำคัญครอบครัวนายกอาร์มยังรออย่างใจจดจ่อถึงคำมั่นสัญญาของ “ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม” ผู้ว่าฯ นราธิวาส ที่ประกาศว่า ต้องจับโจรร้ายมาให้ได้ นี่ก็ผ่านไปเกือบครึ่งเดือนแล้วยังไม่มีวี่แววอะไรเลย หรือสุดท้ายจะเป็นเพียง “ลมปาก” เหมือนกรณีความสูญเสียของ “คนไทยพุทธ” ทุกครั้งไป


กำลังโหลดความคิดเห็น