xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้วิกฤต “พะยูน” กำหนด 4 มาตรการ ลดป่วย-ตาย เตรียมสร้างคอกอนุบาล-ฟื้นฟูหญ้าทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เร่งแก้วิกฤตพะยูน อันดามัน หลังพบอพยพออกจากเมืองหลวง จ.ตรัง เข้าสู่ภูเก็ต กำหนด 4 มาตรการดูแล หวังสร้างทางรอด เตรียมสร้างคอกอนุบาล “พะยูน” ผอม 2 จุดในทะเล และฟื้นฟูหญ้าทะเลที่เสียหายไปกว่า 20,000 ไร่


วันนี้ (13 พ.ย.) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ท่าเทียบเรือราไรย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดที่พบพะยูนอพยพเข้ามาหากินหญ้าทะเล ติดตามการทำแปลงทดลองเพิ่มพืชอาหารธรรมชาติ เพื่อเลือกพืชที่เหมาะสมที่สุดมาเป็นอาหารเสริมให้พะยูน ในพื้นที่ที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยมีนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง นายหิรัญ กังแฮ หัวหน้างานสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และเจ้าหน้าที่ร่วมให้ข้อมูลถึงสถานการณ์พะยูน ที่อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ การทดลองทำแปลงอาหารธรรมชาติที่ท่าเทียบเรือหาดราไวย์


โดยนายก้องเกียรติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ หญ้าทะเลลดลง เนื่องจากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำลดลงจากปกติ 22% ทำให้หญ้าทะเลต้องผึ่งแดดนานขึ้น สภาพดินในทะเลมีตะกอนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หญ้าทะเลในจังหวัดตรังตายไปกว่า 20,000 ไร่ และความหนาแน่นของหญ้าทะเลจากเดิมมีประมาณ 30-40% ลดเหลือไปอยู่ที่ประมาณ 5% ทำให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนพะยูนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะลิบง และเกาะมุก จ.ตรัง ซึ่งเหมือนกับเป็นเมืองหลวงของพะยูน จึงต้องอพยพเพื่อไปหาแหล่งอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่าย้ายเข้ามาพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีประมาณ 30 ตัว โดยกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น อ่าวบางโรง ต.ป่าคลอก ประมาณ 20 ตัว ท่าเทียบเรือราไวย์ ต.ราไวย์ ต่อเนื่องอ่าวตั้งเข็น ต.วิชิต ประมาณ 5-6 ตัว โดยมีพะยูนแม่ลูก 2 คู่ และที่อ่าวบางขวัญ สะพานสารสิน ประมาณ 5-6 ตัว ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว เดิมในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีพะยูนอยู่แค่ 5-6 ตัวเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า พะยูนทั้ง 30 ตัว มีพะยูนที่ผอม เนื่องจากกินอาหารไม่เพียงพอ จำนวน 6 ตัว ในจำนวนนี้มี 1 ตัว ที่ผอมอยู่ในขั้นวิกฤต จะต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน นอกจากนั้น จากข้อมูลพบว่า ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. พบว่า มีพะยูนตายไปแล้วประมาณ 10 ตัว ซึ่งสาเหตุการตายพบว่าเกิดจากการขาดอาหาร ทำให้ร่างกายอ่อนแอ จนป่วยตายประมาณ 90%


ขณะที่นายหิรัญ กังแฮ หัวหน้างานสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวถึงการทำแปลงอาหารทดลอง เพื่อเป็นอาหารเสริมให้พะยูน ในพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เพื่อหาพืชอาหารที่เหมาะสมที่สุด ว่า จากการทอดลองนำผักชนิดต่างๆ จำนวน 10 ชนิด มาวางให้พะยูน ที่หาดราไวย์กิน ปรากฏว่า มีผักหลายชนิดที่พะยูนชอบกิน เช่น สาหร่ายผมนาง ผักบุ้งน้ำ ผักกาดขาว นอกจากนั้นยังได้ทดลองเพิ่มในส่วนของหญ้าฉ้อง ซึ่งเป็นหญ้าทะเล เพื่อเป็นทางเลือกพะยูน สำหรับการทดลองจะยังดำเนินการต่อไป เพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมให้พะยูน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสรอดให้พะยูน ในทะเลอันดามัน


ด้าน นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์พะยูนในพื้นที่ฝั่งอันดามัน พบว่าอยู่ในสถานการณ์วิกฤตหนักที่สุด จำนวนพะยูนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเกิดจากย้ายถิ่น จากเมืองหลวงซึ่งอยู่ที่ จ.ตรัง ซึ่งเดิมเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนที่ใหญ่ที่สุด ไปยังจุดต่างๆ ที่มีหญ้าทะเล รวมทั้งจังหวัดภูเก็ต และ อ่าวพังงา ในขณะนี้คาดการณ์ว่ามีพะยูนอยู่ในทะเลอันดามันประมาณ 60 ตัวเท่านั้น จากเดิมพบประมาณ 120 ตัว และปัจจุบันพบว่าพะยูนเสี่ยงที่จะตายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการสำรวจพบว่ามีพะยูนจำนวนมากที่มีอาการผอม เนื่องขาดอาหาร เมื่อขาดอาหารจะทำให้ป่วยได้ ซึ่งจากตัวเลขการตายของพะยูน พบว่ามีมากถึง 90% ที่ตายเนื่องจากผอมเพราะขาดอาหาร ทำให้โรคแทรกซ้อน ในจำนวนนั้นมีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ตายเนื่องจากเศษอวน


อย่างไรก็ตาม เพื่อหาทางรอดให้พะยูน อพยพ และแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงมาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้มีการประจำเพื่อกำหนดมาตรการในการดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือ พะยูนที่มีปัญหา และแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม โดยกำหนด 4 มาตรการ ประกอบด้วย การสำรวจจำนวนให้รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ไหนบ้าน และจะต้องสำรวจสุขภาพของแต่ละตัวว่ามีความสมบูรณ์ หรือมีอาการป่วย รวมทั้งการขาดอาหาร เพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป เพื่อไม่ให้พะยูนตายจากการขาดอาหาร และจะต้องมาเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหาร ปัจจัยหลักที่ทำให้เค้าต้องอพยพย้ายถิ่น ซึ่งในส่วนนี้ทางกรมได้มีการทดลองปลูกหญ้าทะเลแล้ว ถ้าสำเร็จจะขยายไปปลูกในทะเลต่อไป


นอกจากนั้น ในส่วนของการป้องกันอันตราย จากการประกอบกิจกรรมในทะเล ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพะยูนที่เข้ามาอาศัย จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกประกาศพื้นที่คุ้มครองพะยูนชั่วคราว ซึ่งในเบื้องต้น คาดว่า จะประกาศ 3 จุด ประกอบด้วย หน้าหาดราไรย์ อ่าวบางโรง และอ่าวบางขวัญ ซึ่งเป็นจุดที่พบพะยูนจำนวนมาก ซึ่งจะมีการคุยรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศออกไป


ส่วนการช่วยเหลือพะยูน ที่มีอาการผอม และอยู่ในขั้นวิกฤต เสี่ยงกับการป่วยตาย เพื่อลดความสูญเสีย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเลที่ จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 40,000 ไร่ แต่ปัจจุบัน แหล่งหญ้าทะเลหายไปประมาณ 20,000 ไร่ ประกอบกับปริมาณความหนาแน่นของหญ้าทะเลลดลง ทำให้พะยูนต้องอพยพ ออกจากพื้นที่ สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ คือ เรื่องของการกำหนดพื้นที่เพื่อ ทำคอกสำหรับดูแล และอนุบาลพะยูน ที่มีอาการผอมป่วยอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีหลายตัวที่จะต้องมีการช่วยเหลือโดยด่วน ในเบื้องต้นคิดว่าจะดำเนินการ ใน 2 จุด คือ ที่อ่างบางโรง และหาดราไวย์ ซึ่งการทำคอกนั้นเป็นการดูแลพะยูนในแหล่งธรรมชาติ มีการเตรียมอาหารไว้ให้เพียงพอ เพื่อเป็นการลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น


สำหรับการดำเนินการนั้น หลังจากนี้จะเร่งเขียนแผนเพื่อขออนุมัติงบประมาณมาดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์พะยูน ปัจจุบันไม่สามารถที่จะรอได้นานกว่านี้แล้ว จะต้องเร่งดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือที่กำหนดไว้ นอกจากนั้น สิ่งที่จะต้องดำเนินการอีกอย่างคือการดำเนินการในเรื่องของการฟื้นฟูหญ้าทะเล ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งทุกหน่วยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการที่จะฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น