xs
xsm
sm
md
lg

หมอเตือน! โรค “ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ” พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย… นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่

ปัจจุบัน ตรวจพบโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ซึ่งจะเจอได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ หรือที่เรียกกันว่า “โรคเดอ กา แวง” คือการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือด้านโคนนิ้วโป้ง ทำให้เกิดอาการปวดและเคลื่อนไหวได้ลำบาก พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ข้อมือในการทำงานหรือกิจกรรมซ้ำๆ

โรคนี้มักพบในประชาชนทั่วไปที่มีการใช้งานข้อมือมากเป็นเวลานาน เช่น ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือบ่อย ผู้ที่ทำงานบ้านอย่างหนัก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือพึ่งคลอดบุตร และในผู้สูงอายุ

อาการของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

1. ปวดบริเวณโคนนิ้วโป้งและข้อมือ: อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อขยับนิ้วโป้งหรือข้อมือ เช่น การยกของหรือบิดข้อมือ
2. บวมบริเวณข้อมือด้านโคนนิ้วโป้ง: อาจมีอาการบวมร่วมด้วย และในบางรายอาจรู้สึกว่ามีตุ่มขึ้น หรือคลำได้ก้อนนูนแข็งที่ข้อมือ
3. ขยับนิ้วโป้งหรือข้อมือทำได้ยากขึ้น: อาจรู้สึกว่าการขยับนิ้วโป้งทำได้ไม่สะดวกและเกิดเสียงกรอบแกรบ
4. อาจมีอาการอ่อนแรงของข้อมือ: ทำให้การหยิบจับสิ่งของทำได้ลำบากและหลุดมือได้ง่าย

สาเหตุของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

1. การใช้ข้อมือซ้ำๆ: เช่น การพิมพ์ข้อความบนโทรศัพท์มือถือ การยกของหนัก การซักผ้าด้วยมือ หรือการทำสวน
2. การเสื่อมของเอ็น: เมื่ออายุมากขึ้น ปลอกหุ้มเอ็นเสื่อมสภาพและมีแนวโน้มที่จะอักเสบได้ง่าย
3. การบาดเจ็บของข้อมือ: เช่น การบาดเจ็บจากการล้ม หรือการกระแทกข้อมือ
4. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน: โดยเฉพาะในหญิงหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบได้ง่าย

วิธีการรักษาโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

1. การพักการใช้งานข้อมือ: หลีกเลี่ยงการใช้งานที่ทำให้ข้อมือเกิดแรงกดหรือขยับมากเกินไป
2. การประคบเย็น: ช่วยลดอาการบวมและปวด ควรประคบเย็นวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที
3. การใส่เครื่องพยุงข้อมือ: เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ ทำให้ข้อมือได้พักฟื้น
4. การทำกายภาพบำบัด: ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ข้อมือ

ตัวยาที่ใช้ในการรักษา

1. ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs): เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และนาพรอกเซน (Naproxen) ใช้เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ แนะนำให้ใช้เมื่อมีอาการปวดชัดเจนและควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. ยาทาลดอาการอักเสบ และช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อ [ Cetyl Fatty Acid ] สำหรับบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ทายาทา
3.กลุ่มนี้บริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการ 3. การฉีดยาสเตียรอยด์: แพทย์อาจแนะนำการฉีดสเตียรอยด์บริเวณที่อักเสบในกรณีที่อาการรุนแรง การฉีดยาสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบได้ดีและเร็ว แต่ควรเลือกใช้ในเคสที่จำเป็นเท่านั้น
4. ยาคลายกล้ามเนื้อ: ใช้ในกรณีที่มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบข้อมือ ร่วมกับการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันและลดการกลับมาเป็นซ้ำ

1. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือหนักๆ ซ้ำๆ: หลีกเลี่ยงการใช้งานที่ทำให้เกิดแรงกดบริเวณข้อมือมากเกินไป ควรพักการใช้งานข้อมือในระหว่างวันเป็นระยะๆ
2. ฝึกการทำกายบริหารข้อมือ (ควรทำในช่วงที่ไม่มีอาการ ) เช่น การยืดกล้ามเนื้อและเอ็นที่ข้อมือ และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อมือ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
3. การพักข้อมือเป็นระยะๆ: หากต้องทำกิจกรรมที่ใช้ข้อมือนาน ควรหยุดพักทุกๆ 20-30 นาทีเพื่อลดความตึงเครียดของเอ็น
4. ปรับท่าทางการทำงาน: การยกของหนักควรใช้มือทั้งสองข้างหรือใช้อุปกรณ์ช่วยแทนการยกด้วยมือข้างเดียว
5. ลดการใช้งานโทรศัพท์มือถือ: ลดเวลาที่ใช้ถือโทรศัพท์ด้วยมือเดียว หรือเปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์แบบไม่ต้องถือ เช่น การใช้หูฟังบลูทูธ

การดูแลข้อมือให้แข็งแรงและปรับเปลี่ยนวิธีการใช้งานเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น