ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภูเก็ตเนื้อหอม! “พะยูน” ยังแห่มาหากิน ล่าสุดพบเกือบ 20 ตัว กำลังว่ายน้ำเข้ามาในอ่าวป่าคลอก ขณะที่อ่าวบางขวัญ ร่องสะพานสารสิน มากินหญ้าทะเล 4 ตัว ส่วนพะยูนราไวย์เริ่มเข้ามากินอาหารแปลงทดลอง
หลังเกิดเหตุวิกฤตกับพะยูน ในทะเลอันดามัน ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากหญ้าทะเลในแหล่งอาศัยเดิม เช่น จังหวัดกระบี่ และตรัง ตาย เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พะยูนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องอพยพไปหากินที่อื่น สำหรับจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดหนึ่งที่ก่อนหน้านี้เคยมีพะยูนเข้ามาอาศัยอยู่บ้าง แต่หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตพบว่า จำนวนพะยูนเริ่มเข้ามามากขึ้น ในบ้างพื้นที่ไม่เคยพบพะยูน ก็พบการเข้ามาหากิน
เช่น ที่หาดราไวย์ อ.เมือง พบพะยูน จำนวน 3 ตัว เข้ามาหากินที่สะพานท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นจุดที่มีหญ้าทะเลบ้างเล็กน้อย แต่ไม่เพียงพอ ทางกรมทะเลจึงทดลองทำแปลงเสริมอาหารชดเชยหญ้าทะเลขึ้น โดยดำเนินการวางผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว และ สาหร่ายผมนาง ซึ่งได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. จนกระทั่งวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา พบพะยูนที่อาศัยอยู่ที่สะพานท่าเทียบเรือ เข้ามากินอาหารในแปลงทดลองแล้ว โดยกินจนหมดทุกชนิด จากการตรวจสอบ พบว่า เป็นพะยูน “หลังขาวใหญ่” และเพื่อนพะยูนอีก 1 ตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ได้มีการนำผักทดลองมาวางอย่างต่อเนื่อง เพราะยังพบว่า “พะยูนหลังขาวใหญ่” เข้าต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด เมื่อเวลา 18.00 น. มีการพบพะยูนหลังขาวใหญ่ เข้าที่ท่าเทียบเรือสะพานหาดราไวย์ นานกว่า 30 นาที ก่อนจะว่ายน้ำออกไป
ขณะที่เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.) เพจ Flying Phuket ทุ่งควายบิน เผยแพร่คลิปภาพพบฝูงพะยูน กำลังว่ายน้ำอยู่ทึ่ปากน้ำท่าเรือบางโรง ประมาณ 20 ตัว จากปกติพบอยู่ประมาณ 4-5 ตัว ทั้งนี้มีการสันนิษฐาน ว่า เป็นกลุ่มพะยูนที่อพยพเพื่อมาหาแหล่งอาหาร เนื่องจากว่าในพื้นที่อ่าวป่าคลอก ยังมีหญ้าทะเลอยู่ประมาณ 60% ของพื้นที่
นอกจากนั้น ยังมีการพบพะยูนที่อ่าวบางขวัญ ร่องสะพานสารสิน จ.พังงา โดยตั้งแต่วันที่ 1-9 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nok Malaidang ได้ระบุว่ามีการเข้ามากินหญ้าทะเลของพะยูนในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยครั้งแรกมีการเข้ามาแค่ 1 ตัว หลังจากนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้มี 4 ตัวแล้ว และแนวหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าวมีการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี แต่จากการเข้ามากินหญ้าทะเลของพะยูนที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลให้ปริมาณหญ้าทะเลลดลงจนน่าเป็นห่วง นอกจากนั้น ยังพบว่า บริเวณที่พะยูนเข้าไปหากินยังมีการวางอวนเพื่อประกอบอาชีพของชาวประมง ซึ่งเกรงว่าจะเป็นอันตรายกับพะยูนได้
ขณะที่นายหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) กล่าวว่า การวางแปลงทดลองในช่วงที่ผ่านมา ถือว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ตามนโยบายของอธิบดีกรม ทช. โดยมีการนำพืชอาหารที่เคยนำให้พะยูนกินในอะควาเรียม มาทำการทดลองประมาณ 10 ชนิด รวมถึงสาหร่ายผมนาง เพื่อคัดเลือกพืชที่มีสารอาหารที่เหมาะสมมากที่สุด เบื้องต้นพะยูนกินพืชอาหารแล้ว 5 ชนิด ทั้งนี้ยังคงจะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ปกติ และนอกจากอาหารทดลองแล้วจะเพิ่มในส่วนของหญ้าทะเลเข้าไปด้วยเนื่องจากว่าโดยหลักแล้วในบริเวณดังกล่าวยังมีหญ้าทะเลอยู่ และเมื่อพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลก่อนที่จะกินผักชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ทั้งนี้ จากการศึกษาแหล่งอาหารของพะยูน นอกจากหญ้าทะเล ยังพบว่าพะยูนมีการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหาร โดยการไปกินสาหร่ายทะเล ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบองค์ประกอบของอาหารในกระเพาะพะยูนที่ตายมีสาหร่ายทะเลมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าพะยูนในพื้นที่ทะเลอันดามันมีการปรับตัวอยู่พอสมควร แต่อาจต้องยอมรับว่าสาหร่ายยังเป็นแค่การเสริมอาหารชดเชยหญ้าทะเล ไม่สามารถเป็นอาหารหลักแทนหญ้าทะเลได้ อีกทั้งมีรายงานในต่างประเทศว่าพบสาหร่ายในมูลของพะยูน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าพะยูนกินเข้าไปโดยบังเอิญหรือตั้งใจกิน
อย่างไรก็ตาม สาหร่ายทะเลจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาให้พะยูนในภาวะอาหารขาดแคลน แม้กระทั่งการให้ผักชนิดอื่นเสริมทดแทน เพราะองค์ประกอบและสารอาหารในพืชผักมีคุณสมบัติไม่ต่างจากหญ้าทะเลมากนัก รวมทั้งจากข้อมูลในต่างประเทศที่มีการเลี้ยงพะยูนในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ก็มีการให้ผักเป็นอาหาร
ขอบคุณภาพจาก FB Nok Malaidang / Theerasak Saksritawee 2 เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์ฯ