ตรัง - สปช.ตรัง ขอบคุณ “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม สั่งเดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรังให้เสร็จในปี 2568 เผย รมช.เตรียมลงพื้นที่จี้งานเอง พร้อมสอบต่อหลังสงสัยตรวจรับงาน 58 งวดโปร่งใสหรือไม่
วันนี้ (5 พ.ย.) ที่โรงแรมโรสอินน์ ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง นายรัตน์ ภู่กลาง ประธานเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน จังหวัดตรัง (สปช.ตรัง) พร้อมด้วย นายจิรศักดิ์ ควนจันทร์ แกนนำ สปช.ตรัง เปิดแถลงกรณี นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานตรังวงเงิน 1.2 พันล้านบาท ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซันของจังหวัดตรัง
ขณะที่ นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดำเนินการบอกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับเหมาที่ทิ้งงานก่อสร้างไปกว่า 6 เดือนแล้ว ภายหลังเครือข่าย สปช.ตรัง ได้เดินทางขึ้น กทม.เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อ รมช.คมนาคม รวมทั้งยื่นต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และยื่นต่อนายวัน มูฮัมมัด นอร์มะทา ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้สั่งการเร่งรัดติดตาม ภายหลังประชาชนชาวจังหวัดตรังได้รับความเดือดร้อนจากการทิ้งงานการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ไม่แล้วเสร็จ ทำให้ขาดโอกาสด้านการท่องเที่ยว กระทบเศรษฐกิจจังหวัด อาคารเดิมคับแคบ เที่ยวบินน้อย ไม่เกิดการแข่งขันของสายการบิน ทำให้ตั๋วเครื่องบินมาจังหวัดตรังทั้งไปกลับมีราคาแพงมายาวนาน
นายรัตน์ ภู่กลาง ประธาน สปช.ตรัง กล่าวว่า สปช.ได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานให้มาช่วยผลักดันแก้ไขความเดือดร้อนของชาวตรัง ทั้งนายกรัฐมนตรี ผ่าน รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน (ทย.) รวมถึงประธานรัฐสภา และต้องขอบคุณ รมช.คมนาคม ที่ได้ประชุมในวันนั้นทันที (30 พ.ย.) รวมถึงขอบคุณอธิบดีกรม ทย.ที่ไม่นิ่งนอนใจ สั่งการบอกเลิกสัญญากับเอกชนผู้ที่ทิ้งงานเพื่อให้สามารถเดินหน้าได้ต่อ กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการทิ้งงานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และเรื่องปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงตามที่ภาคประชาชนเดินทางมาร้องถึงกระทรวงคมนาคม โดยตนได้รับการประสานจากเลขารัฐมนตรีว่า รมช.คมนาคม จะมีเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้วย
ด้าน นายจิรศักดิ์ ควนจันทร์ แกนนำ สปช.ตรัง. กล่าวว่า สำหรับหนังสือร้องเรียนของ สปช.ตรัง เรียกร้องสรุป 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้กรมท่าอากาศยานยกเลิกสัญญา ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรัง วงเงิน 1.2 พันล้านบาท ทันที ภายหลังผู้รับเหมาทิ้งงานชัดเจน 2.ให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบสอบสวนการตรวจรับงานทั้ง 58 งวดงาน ว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยโปร่งใสหรือไม่ และ 3.เร่งดำเนินการก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคับแคบของสนามบินทำให้จังหวัดตรังมีตัวเลือกสายการบินน้อยส่งผลให้ตั๋วเครื่องบินราคาแพง
ซึ่งในวันนี้ถือว่าข้อที่ 1 ได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ต้องของคุณ รมช.คมนาคม รวมถึงอธิบดีกรมทย.ที่ไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะแม้จะให้โอกาสกับผู้รับเหมากลับมาทำงานตั้งแต่ 1 ต.ค.-5 พ.ย.แล้ว แต่ไม่กลับมา เกิดเป็นความเสียหายอย่างมาก อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สปช.ตรังต้องติดตามต่อในข้อที่ 2 และ 3 ที่เราเรียกร้อง คือการปัญหาที่เกิดขึ้น เราเรียกร้องให้มีการสอบสวนขั้นตอนการตรวจรับงานที่ผ่านมาทั้งหมด 58 งวดงาน ว่าถูกต้องโปร่งใส่หรือไม่ด้วย เพราะกังวลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีอะไรซุกซ่อนอยู่มากกว่าที่เห็น ก่อนที่จะเร่งเดินหน้าก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 นอกจากนี้ขอให้เร่งงานขยายทางวิ่ง (รันเวย์) ตามที่ รมช.คมนาคมเร่งรัดด้วย เพราะขณะนี้ทราบว่ามีความล่าช้าเนื่องจากติดขัดกรณีการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ท่าอากาศยานนานาชาติตรังสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้เครือข่าย สปช.ตรัง เครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ตรัง ต่างระดมลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง พบปัญหาการทิ้งงานก่อสร้าง โดยมีบริษัท พ.พาน (ชื่อสมมติ) ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นคู่สัญญา จากข้อมูลพบว่าที่ผ่านมาบริษัท พ.พาน เคยเป็นคู่สัญญากับกรม ทย.หลายโครงการ
ทั้งนี้ การทิ้งงานมายาวนานกว่า 6 เดือนเศษ มีค่าปรับวันละ 1 ล้านบาท ยอดค่าปรับรวมขณะนี้ใกล้แตะ 200 ล้านบาทแล้ว ขณะที่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก และเป็นการทิ้งงานในงวดสุดท้ายทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมส่งงวดงานและเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมีการทิ้งงานในงวดสุดท้าย (จากทั้งหมด 58 งวดงาน) ทำให้อาคารผู้โดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ฝนตกหลังคารั่วลงมา ทำให้ฝ้าเพดานพัง สายไฟห้อยระโยงระยาง น้ำเจิ่งนองพื้นอาคาร
นอกจากนี้ งานปรับภูมิทัศน์ภายในอาคาร งานจัดสวน ปลูกต้นไม้ตกแต่ง พบว่าต้นไม้ต่างๆ มีสภาพแห้งเหี่ยวตายทั้งหมด ทำให้หลายหน่วยงานต่างเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งปัญหาการทิ้งงานทิ้งร้างที่เกิดขึ้นได้ส่งกระทบต่อประชาชนที่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเที่ยวบินน้อย การแข่งขันน้อย เพราะอาคารใหม่ไม่แล้วเสร็จให้ใช้งาน