ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมทะเลวางแปลงอาหารธรรมชาติในแหล่งหญ้าทะเล ท่าเรือหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต เพื่อให้เป็นอาหารพะยูน ระบุยังพบการเข้ามาในพื้นที่ ตัวเลขพะยูนตาย 150 ตัว ในช่วง 6 ปี ชี้เหลือพะยูนอยู่แค่ 120 ตัว
จากกรณีมีการพบพะยูน จำนวน 3 ตัว ว่ายน้ำเข้ามาหากิน และอยู่อาศัยในทะเลหน้าหาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ส่งผลให้หลายหน่วยงานมีความตื่นตัว มีการออกประกาศให้ระมัดระวังในการเดินเรือรวมทั้งช่วยกันดูแลพะยูนในพื้นที่ รวมทั้งไม่รบกวนการอยู่อาศัยของพะยูน ซึ่งจากการตรวจสอบยังมีการพบเห็นพะยูน เข้ามาหากิน อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีการพบว่ามพะยูนขนาดใหญ่ว่ายน้ำหากินอยู่ที่สะพานท่าเทียบเรือราไวย์
ล่าสุด ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้ทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติ ขนาด 1 ตารางเมตร บริเวณแหล่งหญ้าทะเลท่าเทียบเรือหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นแหล่งอาหารเสริมให้พะยูน ในช่วงสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม
ในการทดลองครั้งนี้ได้มีการนำผักกวางตุ้ง ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ องค์ประกอบทางเคมี ที่ใกล้เคียงกับหญ้าทะเล มาเป็นอาหารธรรมชาติ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการบินสำรวจพะยูนโดยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพะยูน จากการทดลองวางแปลงในวันนี้ ศูนย์วิจัยจะติดตามผลการดำเนินงาน และพัฒนาแนวทางการเสริมอาหารให้พะยูนในช่วงสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมนี้ต่อไป
ส่วนสถานการณ์พะยูนในทะเลอันดามัน พบว่ามีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง และเสี่ยงที่จะตายได้ตลอดเวลา ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Kongkiat Kittiwatanawong” โดยมีการระบุ ว่า การตายของพะยูนตัวที่ 150 ในช่วง 6 ปี ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มพบความเสียหายของหญ้าทะเลจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าพะยูนที่หายไปจากตรังเนื่องจากหญ้าทะเลขาดแคลน บางส่วนได้อพยพขึ้นไปแหล่งหญ้าทะเลตอนเหนืออ่าวทับละมุ และเกาะพระทอง พังงา และภูเก็ต การตายของพะยูนอพยพเหล่านี้ทิ้งคำถามว่าพะยูนฝั่งอันดามันเหลือกี่ตัว?
จากการการประเมินจำนวนประชากรพะยูน ใช้การสำรวจทางอากาศ และปัจจุบัน มีการใช้ UAV และ Drone ในการช่วยสำรวจ ณ บริเวณที่เป็นแหล่งการแพร่กระจายหลักเช่นตรังและกระบี่ แต่เมื่อพะยูนเหล่านี้ต้องย้ายถิ่นไปหากินในแหล่งหญ้าใหม่ ทำให้ประชากรมีการกระจายตัวไปในพื้นที่กว้างมากและอาจไปไกลได้ตลอดแนวชายฝั่งของฝั่งทะเลอันดามัน
จึงจำเป็นต้องใช้เวลาและกำลังเจ้าหน้าที่ในการสำรวจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เราอาจประเมินจำนวนประชากรที่เหลืออยู่ทางอ้อมได้โดย
1.ข้อมูลจากการสำรวจพบกลุ่มประชากรพะยูนที่จังหวัดตรัง มีคู่แม่ลูก 7% ของจำนวนประชากร เมื่อคิดค่าเฉลี่ยการมีลูกของพะยูนทุกๆ 2.5 ปี นั่นหมายถึงอัตราการเกิดของพะยูน ที่ตรังมีประมาณ 2.8% ต่อปี ซึ่งหากมีจำนวนประชากรที่ 180 ตัว จะมีพะยูนเพิ่มได้ปีละประมาณ 5 ตัว
2.ข้อมูลการศึกษาที่ออสเตรเลียพบว่าพะยูนสามารถเพิ่มจำนวนประชากรสูงสุดได้ไม่เกิน 5% ต่อปี หากเอาอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรจากทั้งข้อหนึ่งและสองมาใช้ โดยพะยูนฝั่งอันดามันมีจำนวนตั้งต้นที่ 250 ตัว จะมีการเพิ่มจำนวนประชากรได้ปีละ 7-12 ตัว
3.ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2562-2567) มีพะยูนตายตลอดแนวชายฝั่งอันดามันเฉลี่ยปีละ 25 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการตายก่อนหน้านี้ (พ.ศ.2548-2561) และที่สำคัญมากกว่าอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนถึง 2-3 เท่า ทำให้ประเมินได้ว่าจำนวนประชากรพะยูนน่าจะลดลงอย่างมาก
4.หากคิดอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรที่ 2.8-5% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเราควรมีพะยูนที่ตรังเพิ่มอีก 30-54 ตัว แต่เมื่อหักลบกับจำนวนพะยูนที่ตายไปแล้ว 150 ตัว เราจึงน่าจะมีพะยูนเหลืออยู่สูงสุด ประมาณ 84 ตัว ซึ่งหากรวมกับพะยูนที่แหล่งอื่น เช่น อ่าวพังงงา เกาะพระทอง เกาะศรีบอยา เกาะสาหร่าย เกาะลิดี คิดว่ามีพะยูนฝั่งอันดามันเหลืออยู่ไม่ถึง 120 ตัว หรือลดลงไปกว่าครึ่งจากจำนวนประชากรที่เคยมีการประเมินไว้
และไม่แน่ว่าพะยูนบางส่วนอาจว่ายไปหากินประเทศอื่นแล้ว ซึ่งจะทำให้จำนวนประชากรของเรายิ่งน้อยลง อย่างไรก็ตาม ควรรอการยืนยันตัวเลขจากการสำรวจจริงอีกที (Dugong population assessment) ควบคู่กับการประเมินความสามารถในการรองรับได้ของแหล่งหญ้าทะเลที่เหลืออยู่ (Seagrass carrying capacity)
"สำคัญที่สุดคือต้องเร่งค้นหาและเซฟพะยูนที่เหลืออยู่ให้ได้ ซึ่งทุกท่านสามารถช่วยได้ ตั้งแต่แจ้งการพบเห็นหรือช่วยสำรวจ ตลอดจนปฏิบัติตามแนวทางการคุ้มครองพะยูน และช่วยฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล"