xs
xsm
sm
md
lg

ทน.ภูเก็ตต่อสัญญาให้สัมปทาน “พีเจที เทคโนโลยี” บริหารเตาเผาขยะอีก 15 ปี รองรับขยะทั่วเกาะภูเก็ตวันละกว่าพันตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลนครภูเก็ตลงนามสัญญาให้สิทธิ “พีเจที เทคโนโลยี” บริหารโรงเตาเผาขยะไม่น้อยกว่าวันละ 300 ตัน อีก 15 ปี ขณะที่บริษัทพร้อมลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรกว่า 500 ล้าน รองรับขยะทั่วเกาะภูเก็ตวันละกว่าพันตัน


เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (31 ต.ค.) เทศบาลนครภูเก็ต โดยนายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมลงนามในสัญญาให้สิทธิเอกชนบริหารโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชนขนาดไม่น้อยกว่า 300 ตัน/วัน กับ น.ส.ตาน หวัง กรรมการผู้บริหาร บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด โดยมีนายเฉลิมพร ปิยณรงค์โรจน์ ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต น.ส.ศจิธร ศิริพิพัฒน์ Legal and Compliance Manager บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด ร่วมลงนาม และโอกาสนี้ นายศุภโชค ละอองเพชร นายสุทธิพันธ์ สกุลเทพ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต สมาชิกสภาเทศบาลนครภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 3 (ห้องใหญ่) สำนักงานเทศบาลนครภูเก็ต

นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวถึงการลงนามสัญญาให้สิทธิเอกชนบริหารโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชนขนาดไม่น้อยกว่า 300 ตัน/วัน ในวันนี้ว่า เทศบาลนครภูเก็ตต้องรับขยะจากทุกท้องถิ่นมาอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตทั้งหมด วันละกว่า 1,000 ตัน ในขณะที่เตาเผาขยะที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถรองรับได้วันละประมาณ 750 ตันเท่านั้น ขยะที่เหลือต้องเข้าสู่การฝังกลบ ซึ่งเริ่มจะเต็มแล้วเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะ เนื่องจากเตาเผาขยะเดิมผ่านการใช้งามานานกว่า 15 ปี เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ เริ่มมีปัญหาทรุดโทรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต่อสัญญากับ บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนในเรื่องของการปรับปรุงระบบเตาเผาขยะ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ให้มีคุณภาพอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการกำจัดขยะ เพื่อแก้ปัญหาขยะของจังหวัดภูเก็ต จากขณะนี้มีปริมาณขยะเกินที่เตาเผาจะกำจัดได้ประมาณ 200-300 ตัน/วัน รวมไปถึงขยะติดเชื้อด้วย ระหว่างรอให้เตาเผาขยะแห่งที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต่อสัญญา และให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการขยะ


การต่อสัญญาให้บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้บริหารโรงเตาเผาขยะชุมชน ต่อไปอีก 15 ปีนั้น เนื่องจากในสัญญาเดิมได้ระบุไว้ว่า หากบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด ผ่านการประเมินในทุกเงื่อนไข เทศบาลนครภูเก็ตต้องให้สัญญากับบริษัทเดิมก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด ผ่านการประเมินทุกเงื่อนไข จึงเป็นที่มาของการต่อสัญญาต่อไปอีก 15 ปี ซึ่งการเข้ามาบริหารเตาเผาในครั้งนี้ บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด จะต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงระบบการทำงานของเตาเผาขยะใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะเครื่องจักร ที่จะต้องลงทุนกว่า 511 ล้านบาท นอกจากนี้ในเงื่อนไขยังกำหนดไว้ว่า บริษัทยังต้องสนับสนุนตามรายละเอียดสัญญา เพื่อปรับปรุงเรื่องควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อมอีกกว่า 46 ล้านบาท เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดแก่เทศบาลนครภูเก็ต

และนอกจากนี้ บริษัทยังได้มอบเงินสนับนสุนเทศบาลนครภูเก็ตอีก 25.7 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานด้านสาธารณประโยชน์ ซึ่งทางเทศบาลนครภูเก็ต มีแนวคิดที่จะนำเงินที่ได้รับมอบในครั้งนี้ไปดำเนินโครงการสนามฟุตบอลสะพานหินสเตเดียม ให้เป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันกีฬาระดับสากลอันดับต้นๆ ของเอเชีย ซึ่งทางสำนักช่างได้ออกแบบไปแล้วบางส่วน และที่ผ่านมาเทศบาลได้ยื่นขอสนับสนุนงบประมาณไปยังรัฐบาลมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแต่อย่างใด


นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหากลิ่นรบกวนจากขยะ ว่า สาเหตุของกลิ่นรบกวนไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการของเตาเผาขยะทั้งหมด กลิ่นที่เกิดจากเตาเผาขยะนั้นจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ช่วงที่หยุดปรับปรุงเตาเผา แต่สาเหตุหลักของกลิ่นเหม็นรบกวนนั้นเกิดจากบ่อฝังกลบขยะเต็มพื้นที่ ซึ่งในส่วนนี้เทศบาลได้วางแนวทางในการแก้ปัญหาไว้แล้ว จากที่เทศบาลนครภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระนอง 35 ล้านบาท และเทศบาลได้สมทบอีก 5 ล้านบาท รวมเป็น 40 ล้านบาท ทำการรื้อร่อนบ่อฝังกลบขยะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ฝังกลบให้สามารถรองรับปริมาณขยะได้จนกว่าการก่อสร้างเตาเผาขยะแห่งที่ 2 จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

“เรามั่นใจว่าเมื่อเตาเผาขยะหัวที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถรองรับขยะได้วันละ 500 ตัน เมื่อรวมกับเตาเผาเดิมที่ใช้อยู่ในขณะนี้วันละ 700 ตัน และบ่อฝังกลบที่ได้รับการปรับปรุงบ จะทำให้สามารถรองรับขยะที่เพิ่มขึ้นได้ภายใน 10 ปี จะไม่มีขยะล้นเมืองอย่างแน่นอน” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าว


ด้าน น.ส.ตาน หวัง กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า จากปัญหาเดิมเริ่มต้นที่มีขยะล้นเมืองภูเก็ต ซึ่งการฝังกลบไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาขยะที่มีจำนวนมหาศาลและมากขึ้นในแต่ละวัน จึงเป็นที่มาของโครงการเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นในภูเก็ต โดยในเวลานั้น บริษัท พีเจที ได้รับสิทธิสัมปทานให้สิทธิเอกชนก่อสร้างและบริหารโรงเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง เป็นเวลา 15 ปี และต่อสัญญาสัมปทานอีก 15 ปี ในวันนี้

“เป็นสิ่งที่บริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บริษัท พีเจที โดยยูนนาน วอเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองให้ชาวภูเก็ต บริษัทได้รับสิทธิต่อสัญญานี้ไปอีก 15 ปี ซึ่งถือเป็นโครงการเตาเผาขยะมูลฝอยผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ต่ออายุสัญญาสำเร็จ” น.ส.ตาน หวัง กล่าวและว่า


บริษัท พีเจที เป็นบริษัทในเครือของ Yunnan Water Investment Company Limited ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา บริษัท พีเจที เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากเทศบาลนครภูเก็ต และดำเนินธุรกิจโรงเตาเผาขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า (Waste to Energy) จนถึงปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครภูเก็ต ใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะแบบตะกรับ (Stoker) ในการกำจัดมูลฝอย มีความสามารถในการกำจัดอยู่ที่ 700 ตันต่อวัน และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 12 เมกะวัตต์ โดยถือเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยของหน่วยงานท้องถิ่นที่มีกำลังการกำจัดขยะมูลฝอยใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้น


น.ส.ตาน หวัง ยังกล่าวอีกว่า 15 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทพีเจที โดย Yunnan Water ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถ “ทำได้สำเร็จ” โดยที่ผ่านมาบริษัทสามารถรองรับรถขนขยะจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่นำขยะจากทั่วเกาะภูเก็ตมากำจัดในพื้นที่เตาเผา และบริษัทจะนำขยะเข้าเตาเผาในทุกๆ วันตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์และ 365 วันต่อปี ซึ่งจากการสำรวจสถิติความพึงพอใจของประชาชนและชุมชนบริเวณใกล้เคียงโรงเตาเผาขยะพบว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ได้ระดับคะแนนช่วง 4.1-5.0 คะแนน ถือเป็นเกรด A เป็นระดับความพึงพอใจมากที่สุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับจังหวัดภูเก็ตเสมือนเป็นบ้านของตัวเอง บริษัทมีความพยายามที่จะสร้างประโยชน์และสิ่งดีๆมากมายมาตลอดจนได้รับโล่รางวัล และหนังสือรับรอง เช่น ได้รับโล่รางวัลโครงการธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 2 (ปฏิบัติการสีเขียว) พร้อมกับใบรับรององค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น