ตรัง - เกษตรกรชาวตรังนำบ่อกุ้งร้างมาเลี้ยงปูหน้าขาวและปูดำ จนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ที่สร้างรายได้ให้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ช่วยปลดหนี้จากการเลี้ยงกุ้ง 7 ล้านได้เกือบหมดในเวลาไม่ถึง 2 ปี
วันนี้ (29 ต.ค.) นายวรุตม์ หลงสะ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปูจังหวัดตรัง ได้นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมบ่อเลี้ยงปูหน้าขาว จำนวน 6 บ่อ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ที่เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดตรังแนะนำ เพราะมองว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ใช้เวลาเลี้ยงสั้น ปูตัวใหญ่ ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ต่อมาหลังเลี้ยงปูหน้าขาวได้เพียง 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน เกษตรกรหัวก้าวหน้าจึงคิดต่อยอด จึงได้ทดลองปล่อยปูดำและปล่อยกุ้งกุลาดำลงไปเลี้ยงเพิ่มเติมในบ่อเดียวกัน ปรากฏว่า สัตว์เศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิด สามารถเลี้ยงได้เจริญเติบโตตามขนาดที่ต้องการ และสามารถทยอยจับขายได้ทั้ง 3 ชนิด สร้างรายได้เป็น 3 เท่าในบ่อเดียว
ทั้งนี้ นายวรุตม์ หลงสะ ได้เริ่มเลี้ยงกุ้งกุลาดำก่อนแล้วหันมาเลี้ยงกุ้งขาว รวมเวลาได้ 28 ปี จนกระทั่งการเลี้ยงยุ่งยากมากขึ้น ทั้งกุ้งเกิดโรค สภาพอากาศไม่ดี ก๊าซ ไฟฟ้า อาหาร และเคมีภัณฑ์ต่างๆ ราคาแพงขึ้น ขณะที่ราคากุ้งกลับสวนทางราคาตกต่ำ ทำให้ขาดทุนติดต่อกันจำนวนมาก จนต้องหยุดตัวเอง พร้อมกับเป็นหนี้สินประมาณ 7 ล้านบาท จากนั้นหันไปกรีดยางพาราและทำสวนปาล์มน้ำมันแทน แต่ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ประมงเข้าไปส่งเสริมให้เลี้ยงปูหน้าขาวในบ่อกุ้งร้าง ซึ่งตอนแรกเขาไม่ได้สนใจแต่อย่างใด
กระทั่งต่อมา นายวรุตม์ หลงสะ จึงยอมทดลองเลี้ยงปูหน้าขาว ไร่ละ 1,000 ตัว 3 ไร่ ลง 3,000 ตัว เลี้ยงมาได้ 45 วัน นำไซไปดักดูแต่ปูไม่เข้าไซสักตัว ซึ่งตนคิดว่าปูคงตายหมดแล้ว แต่ฝืนเลี้ยงไปเรื่อย ต่อมาอีก 10 วัน หรือเท่ากับ 55 วัน มาดักไซใหม่ พบว่ามีปูเข้ามา 7-10 ตัว ได้ตัวละครึ่งกิโลกรัม พอเริ่มเข้า 4 เดือนก็เริ่มขายได้ ขายรอบแรกบ่อที่ 1 ได้เงิน 280,000 บาท ต่อมาจึงจับขายทั้ง 6 บ่อ โดยราคาถ้าเป็นปูหน้าขาวเนื้อ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 450 บาท แต่หากเป็นปูหน้าขาวไข่ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ทำให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ
ต่อมา นายวรุตม์ หลงสะ จึงลองปล่อยปูดำและกุ้งกุลาดำลงไปเลี้ยงด้วย เนื่องจากทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตลาดต้องการสูงอยู่แล้ว โดยเลี้ยงแบบอิงธรรมชาติให้น้ำขึ้นน้ำลงเข้ามาในบ่อ ทำให้มีสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เข้ามาอาศัยรวมกันในบ่ออีกหลายชนิดด้วย ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา มีทั้งปลากะพง ปลานิล ปลาขี้ตัง และปลาทะเลอีกหลายชนิด ซึ่งปลาพวกนี้พอจับจะแบ่งแจกจ่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่ และส่วนที่เหลือนำไปทำเหยื่อเลี้ยงปู เลี้ยงกุ้งในบ่อ ทำให้สามารถประหยัดอาหารปู อาหารกุ้งได้อย่างมาก
“จากเมื่อก่อนที่เคยเลี้ยงกุ้ง ต้นทุนรอบละ 7 แสน เลี้ยงประมาณ 4 เดือน ก็จับขายได้ แต่พอมาเลี้ยงปูแค่ 100 วัน เริ่มจับขายได้แล้ว และระหว่างนั้นสามารถเอาลูกปูมาลงเพิ่มได้เลย ทำให้ปูไม่ขาดบ่อ ซึ่งต้นทุนการเลี้ยงปูแต่ละรอบไม่เกิน 3 หมื่น ในระยะเวลา 6 เดือน เพราะไม่ต้องไปซื้อก๊าซหุงต้มมาปั่นตีน้ำ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แค่วัด pH ค่าน้ำอย่างเดียว ต้นทุนการเลี้ยงจึงต่างกันมาก ความเสี่ยงจึงแทบไม่มี จากที่เมื่อก่อนตนเป็นหนี้จากการเลี้ยงกุ้ง 7 ล้าน แต่พอหันมาเลี้ยงปูหน้าขาว ปูดำ และกุ้งกุลาดำ ในบ่อเดียวกันมาประมาณเกือบ 2 ปี ทำให้จ่ายหนี้ได้กว่า 6 ล้านแล้ว”
นายวรุตม์ หลงสะ บอกว่า ตลาดทั้งปูและกุ้งเหล่านี้จะส่งไปตามร้านค้า และร้านอาหาร เฉพาะในอำเภอกันตังเท่านั้น ขณะที่ออเดอร์จากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ยังไม่มีผลผลิตส่งให้ เพราะแค่ขายในจังหวัดตรัง ก็มีปริมาณไม่เพียงพอแล้ว โดยเมนูเด่นจากปู คือ หลนปูไข่ แกงส้มปูไข่หน่อไม้ดอง แกงกะทิปูไข่ ปูไข่ผัดผงกะหรี่ ปูไข่นึ่ง เป็นต้น ส่วนกุ้งกุลาดำทำได้หลายเมนูที่ทุกคนชื่นชอบ ล่าสุดตนเองจึงคิดสร้างเครือข่ายการเลี้ยงเพื่อป้อนตลาด โดยมีขณะนี้สมาชิกผู้เลี้ยงปูในอำเภอกันตังอยู่ประมาณ 40 รายแล้ว และกำลังเริ่มขยายไปยังอำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน ด้วย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เคยเลี้ยงกุ้งมาก่อน ผู้สนใจติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 06-5046-4925