ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนา จัดเสวนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม” เตรียมพร้อมรับมือหน้าฝนของภาคใต้
วันนี้ (22 ต.ค.) ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัยและภาคีเครือข่ายกว่า 200 คน ร่วมงานเสวนาหาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม ปี 2567 เพื่อแก้ปัญหาและจัดการน้ำท่วม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของชุมชนตัวอย่าง และระบบการเตือนภัยน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ โดยมีนายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี และมีส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วม
ผศ.ดร.ธนันท์ ชุบอุปการ ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน 2567 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น และร่องมรสุมที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบน หลายชุมชนจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้รับผลกระทบจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันมาแล้วหลายครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 17 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่ทั้ง 2 พื้นที่มีสาเหตุมาจากปริมาณฝนที่ตกหนักมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพร้อม และสร้างความตระหนักรู้ในการรับมือน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการลดความเสี่ยง การเกิดน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และประชาชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาภัยแล้งไปยังพื้นที่รอบๆ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ภายใต้แนวคิด Hat Yai Model
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พลชาติ โชติการ รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้นับเป็นปีพิเศษ เนื่องจากมีการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยสำนักวิจัยและพัฒนาจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการรวบรวมสังเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มาแปลความหมายเพื่อให้การสื่อสารไปยังส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่ภาคอื่น หรือพื้นที่อื่นประสบอุทกภัย อาจเป็นสัญญาณเตือนให้พื้นที่อื่นต้องเฝ้าระวัง และเข้มงวดกับมาตรการในการรับมือมากขึ้น ดังนั้นการบูรณาการร่วมกันครั้งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกัน และสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ทันกับสถานการณ์มากขึ้น