xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อดินโคลนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ตถล่ม ระบุได้รับการช่วยเหลือระดับหนึ่ง ขณะบางรายกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง จังหวัดจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ 13 ชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผ่านมาเกือบ 2 เดือน เหยื่อดินโคลนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ถล่ม เผยได้รับการเยียวยาแค่บางส่วน ในขณะที่บ้าน ห้องเช่าเสียหายเกือบ 20 หลัง ขณะผู้บาดเจ็บบางรายกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ด้านจังหวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้


จากกรณีเกิดเหตุดินโคลนจากเทือกเขานาคเกิด หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถล่ม เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งมีทั้งคนไทย ชาวต่างชาติ และแรงงานต่างด้าว เสียชีวิต 13 ราย บ้านเรือนประชาชน ห้องเช่า บ้านเช่าที่ปฏัก ซอย 8 และพื้นที่อื่นๆ ใน ต.กะรน ได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 10 ราย ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือน

วันนี้ (15 ต.ค.) เวลา 09.30 น. จังหวัดภูเก็ต โดยอำเภอเมืองภูเก็ต ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลกะรน และ ประชาชนในพื้นที่ ต.กะรน ได้จัดทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ณ ปฏัก ซอย 8 (หลังวัดกะตะ)


โดยมีพระครูสุวรรณธรรมวินิจ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีเขต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีผู้เข้าร่วมพิธี เช่น นายสุวิทย์ สุริยะวงค์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายวรศิษฐ์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เพื่อร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวเข้าร่วม


อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จพิธี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ไปเยี่ยมและมอบกระเช้าเพื่อให้กำลังใจแก่ นายสมรส ถิรพิทยาพิทักษ์ หรือ ตาไข่ อายุ 83 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 2 ตำบลกะรน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ซึ่งต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่า 1 เดือน และ ขณะนี้ต้องกลายผู้ป่วยติดเตียง


โดย นายนิค ซึ่งเป็นหลานชาย นายสมรส และเป็นหนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของการช่วยเหลือ ทางผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือในส่วนของเครื่องครัว มาบางส่วน ซึ่งนับว่าได้มาเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่เสียหาย ซึ่งบ้านจุดที่เกิดเหตุเฉพาะในส่วนของครอบครัวตนมีห้องเช่าได้รับความเสียหาย 15 ห้อง และ 4 หลัง ส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. ซึ่งตนเข้าใจในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ


แต่สิ่งที่ชาวบ้านหวังตอนนี้คือเรื่องของการดำเนินคดีกับคนที่เป็นสาเหตุของดินโคลนถล่ม ซึ่งทางชาวบ้าน และทนายได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดี เพื่อเรียกความเสียหายกับคนที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งทางทีมทนายได้ดำเนินการไปบางส่วน มั่นใจว่าหลักฐานที่มีน่าจะเอาผิดได้ ว่าต้นตอเกิดจากไหนอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางทนายที่ได้รับมอบหมาย


นายนิค ยังได้กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุการณ์ดินโคลนถล่มในพื้นที่แม้เวลาจะผ่านมานานเกือบ 2 เดือน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังอยู่ในอาการผวา ทุกครั้งที่มีฝนตกลงมาไม่มีใครนอนหลับสนิท ทุกคนจะตื่นขึ้นมาดูน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าดินจะถล่มลงมาซ้ำ เพราะปัจจุบันน้ำที่ไหลลงมาไม่ได้ไหลลงคลอง แต่ไหลลงมาบนถนน เพราะคลองและคูระบายน้ำถูกปิดด้วยหินและดิน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด


ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติในจังหวัดภูเก็ตว่า การฟื้นฟูสถานที่หลังเกิดเหตุได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการเยียวยาประชาชนและขณะนี้อยู่ในมาตรการของการเยียวยาตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ครัวเรือนละ 9,000 บาท และการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยดี ในวันนี้ได้มีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยในพื้นที่เพื่อให้มีกำลังใจในการยืนหยัดต่อไป


ส่วนมาตรการในการป้องกันภัย จังหวัดภูเก็ต ได้แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณีโดยมีการออกแบบ และการสนับสนุนข้อมูลด้านวิศวกรรมเพื่อป้องกันภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 8 ร่อง ของจังหวัดภูเก็ต โดยแต่ละพื้นที่จะใช้หลักวิศวกรรมและนำความลาดชันของชั้นดินและหินมาออกแบบ


ในส่วนของการเตือนภัย ในพื้นที่ตำบลกะรน ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิมดชนะภัย ได้มามอบเครื่องเตือนภัยให้พื้นที่กะรน เป็นการเบื้องต้นจำนวน 10 เครื่อง นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมาได้มอบกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนไปแล้วทั้ง 30 หมู่บ้าน ซึ่งสามารถใช้ได้ผลดี เมื่อมีน้ำฝนปริมาณ 150 มิลลิเมตร ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จะแจ้งเตือนประชาชน และจะต้องมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ไปอยู่ที่ปลอดภัย


ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการตรวจสอบสาเหตุของการเกิดดินโคลนถล่ม จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ดำเนินการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณี โดยปัจจัย ที่มีผลทำให้เกิดเหตุดินถล่ม มี 2 ปัจจัย คือ อายุของชั้นดินและหินที่มีอายุกว่า 90 ปี ทำให้เกิดการผุกร่อน และปัจจัยที่เกิดจากปริมาณฝนตกสะสมในปริมาณมาก ทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหว จนถล่มลงมา โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้วางแผนการป้องกันทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อป้องกันภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น