ตรัง - กยท.ส่งมอบน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ นำไปใช้รดต้นยางช่วยลดโรคในยาง เปอร์เซ็นต์น้ำยางสูงขึ้น และยังช่วยกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่การยางแห่งประเทศไทยสาขากันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง นายดิษฐเดช วัฒนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พร้อมด้วยนายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง ลงพื้นที่พบปะกับตัวแทนเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ยางพาราอำเภอกันตัง ทั้ง 7 กลุ่ม เพื่อมอบแนวทางการทำสวนยางในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ความสำคัญและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาด EUDR รวมทั้งรับทราบปัญหาของเกษตรกร เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
พร้อมกับแนะนำการใช้และส่งมอบน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ จำนวน 280 แกลลอน ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรสวนยางแปลงใหญ่อำเภอกันตัง ทั้ง 7 กลุ่มๆ ละ 40 แกลลอน ขนาดบรรจุถังละ 20 ลิตร หลังจาก กยท.ได้ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท รับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้านมาในราคา กก.ละ 15 บาท เพื่อร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำภายในประเทศ และสามารถนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพได้ทั้งหมด 1 ล้านลิตร แล้วแจกจ่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศนำไปใช้ในการบำรุงสวนยางพารา
นายดิษฐเดช วัฒนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย บอกว่า น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ได้ส่งไปให้เกษตรตามโครงการสวนยางแปลงใหญ่ทุกภาค รวม 335 แปลง เนื้อที่กว่า 200,000 ไร่ โดยหากนำไปฉีดพ่นหน้ายาง ใบยาง จะใช้ 1 ลิตร ต่อน้ำ 400 ลิตร แต่หากใช้รดโคนต้นยาง จะใช้ 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาด แก้ปัญหายางหน้าแห้ง เพิ่มเนื้อยางให้สูงขึ้น ส่วนจะมีการรับซื้อปลาหมอคางดำมาผลิตน้ำหมักชีวภาพเพิ่มหรือไม่ ต้องรอดูปัญหาการระบาดจากกรมประมงอีกครั้ง
ส่วน นายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง บอกว่า เมื่อปี 2544 ทาง กยท.เคยส่งเสริมให้ชาวสวนยางจังหวัดสตูล ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากเศษปลาทะเล ปรากฏว่า หลังทำแล้วได้ผลให้เกิดจุลินทรีย์ในดิน หน้ายางนิ่ม ได้ผลผลิตเพิ่ม ช่วยลดโรคในยาง และเปอร์เซ็นต์น้ำยางสูงขึ้น จาก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมาราคาเศษปลาขณะนั้นได้เพิ่มสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ 10-20 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 30-40 บาทต่อกิโลกรัม จนซื้อมาผลิตไม่ไหวเพราะต้นทุนสูงมากจึงต้องล้มเลิก
จนกระทั่งผลการทดลองล่าสุดพบว่า น้ำหมักปลาหมอคางดำ จะให้ธาตุอาหารคล้ายๆ กับปลาทะเล จึงนำมามอบให้แก่เกษตรกรสวนยางแปลงใหญ่ในอำเภอกันตังเพื่อนำไปใช้ หลังจากนั้นจะขยายผลให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ต่อยอดทำน้ำหมักชีวภาพ ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ปลาทะเลในพื้นที่ เช่น ปลาไก่ เศษปลาอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดทะเล เพราะจากการทดลองทำมาประมาณ 4-5 ปี พบว่าน้ำหมักทั้งจากปลาทะเลและจากปลาหมอคางดำ สามารถนำไปใช้กับยางพาราและพืชอื่นๆ แล้วได้ผลดีเหมือนกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ติดทะเลที่มีสภาพดินเป็นกรด