xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” กังวลของแพงกระทบคนร่วมกินเจ หวังเงินหมื่นช่วยกระตุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” ศาลเจ้าเก่าแก่เมืองตรังกังวลเศรษฐกิจแย่ ข้าวของแพง อาจทำให้มีผู้คนมาร่วมงานถือศีลกินผักน้อย แต่หวังอานิสงส์จากเงินหมื่นช่วยกระตุ้น พร้อมฟื้นพิธีกรรมโบราณที่หายไป ดึงสาธุชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมเทศกาล

วันนี้ (4 ต.ค.) บรรยากาศเทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-11 ตุลาคมนี้ ว่า ที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ภายในเขตเทศบาลนครตรัง นายพิชญะ ศิริศุภนนท์ ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า บอกว่า แม้ปีนี้มีสาธุชนในชุดขาวจะหลั่งไหลมาร่วมลงทะเบียนถือศีลกินผักกันอย่างคับคั่ง แต่ต้องลุ้นเพราะด้วยสภาพในปัจจุบันที่มีข้อจำกัดในความเป็นเมืองรอง ทำให้ความคึกคักในอดีตหายไปเยอะ บวกกับเศรษฐกิจที่แย่ ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะพืชผักต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ประกอบอาหารเจ ในส่วนของเม็ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลได้แจกกลุ่มเปราะบางไปแล้วนั้น คาดหวังว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดตรังได้ เพียงแต่ขณะนี้ยังได้รับเพียงบางกลุ่ม ยังไม่ครบทุกกลุ่ม

“แม้สภาพเศรษฐกิจในขณะนี้จะยังไม่ดี แต่ขอให้ผู้ที่จะถือศีลกินผักไม่ต้องกังวล สำหรับสาธุชนที่เดินทางมาจังหวัดตรัง และมาที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยในปีนี้ หากแม้ไม่มีเงินก็สามารถรับประทานอาหารเจได้ที่โรงเจฟรีทั้ง 9 วัน และเป็นเมนูเดียวกับผู้ที่ลงทะเบียนผูกปิ่นโตกับทางศาลเจ้า ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าในแต่ละมื้อจะมีสาธุชนมารับอาหารเจฟรี ราว 8,000-10,000 คน สำหรับค่าใช้จ่ายจะมีเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนผูกปิ่นโตเท่านั้น ในราคา 1,200 บาท วันละ 3 มื้อ ตลอดช่วงเทศกาล ซึ่งเป็นราคาเดิมของปีที่ผ่านมา ถึงแม้ข้าวของต่างๆ จะสูงขึ้นก็ตาม รวมทั้งอาหารเจที่ขายในพื้นที่ศาลเจ้า ทางคณะกรรมการได้ควบคุมให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่แพงเกินไป เฉลี่ยไม่เกินเมนูละ 50 บาท”

สำหรับไฮไลต์พิธีกรรมพิเศษที่หาชมได้ยากของศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ในเทศกาลถือศีลกินผักปีนี้คือ พิธีเคี่ยวน้ำมันว่านเพื่อแจกจ่ายสาธุชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณที่หายไป 40 กว่าปีแล้ว นอกจากนี้ ในคืน 3 ค่ำ จะมีพิธีลุยหนามขององค์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โดยเสมือนองค์ศักดิ์สิทธิ์นำตัวไปรับสิ่งชั่วร้ายและความเจ็บปวดแทนสาธุชน และเมื่อประกอบพิธีลุยหนามเสร็จแล้ว สาธุชนสามารถตัดเอาหนามไปแขวนไว้หน้าบ้านได้ ตามความเชื่อที่ว่าหนามแหลมจะช่วยไล่สิ่งชั่วร้าย ต่อมาในคืน 7 ค่ำ จะมีพิธีไต่บันไดมีด คืน 8 ค่ำ จะมีพิธีลุยไฟ ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นพิธีกรรมที่มีสาธุชนสนใจมาร่วมอย่างแน่นขนัดจนล้นศาลเจ้า จึงอยากเชิญชวนผู้คนทั่วประเทศให้เดินทางมาร่วมเทศกาลถือศีลกินผักที่จังหวัดตรัง ซึ่งเก่าแก่ยาวนานมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี






กำลังโหลดความคิดเห็น