xs
xsm
sm
md
lg

จับตาช่วงเวลาโยกย้ายตำแหน่งที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนแผ่นดินไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยัง “ซ้ำรอยประวัติศาสตร์” ล่าสุดปล้นปืนและวางเพลิงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส โดยกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นกว่า 10 คนบุกจับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน แล้วกวาดเอาอาวุธปืนราชการไปกว่า 10 กระบอก เป็นไปตามหลักคิด “ปืนของรัฐ คือปืนของเรา

ก่อนล่าถอยได้วางเพลิงอาคารสำนักงานเสียหายทั้งหมด รวมทั้งวางกับดักชุดตรวจที่เกิดเหตุไว้เป็นระเบิดรวม 3 จุด ซึ่งเก็บกู้ได้ ไม่พลาดท่าเสียทีเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา นับเป็นว่าโชคดีที่ปฏิบัติการบีอาร์เอ็นครั้งนี้ไม่มุ่งร้ายต่อชีวิตเจ้าหน้าที่ มีเพียงตุ๊บตั๊บใส่บางคนที่มีข่าวเพิ่งถูกย้ายมาจากถิ่นอื่นจนเป็นชนวนให้เกิดเหตุครั้งนี้

เหตุปล้นปืนหน่วยงาน “พลเรือน” ในชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วงปี 2542-2545 เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตอนนั้นบีอาร์เอ็นเริ่มก่อเหตุร้ายแรงด้วยการเผาโรงเรียนถึง 38 โรงในคืนเดียว ถือเป็นการชิมลางก่อนที่เกิด “วันเสียงปืนแตก” ตามมา ในคืนในวันที่ 4 มกราคา 2547 หรือเหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็งอันเป็นจุดเริ่ม “ไฟใต้ระลอกใหม่”

ช่วงนั้นหน่วยงานพลเรือนถูกปล้นปืนไปกว่า 30 กระบอก ถือเป็นจุดเริ่มใช้นโยบาย “ปืนของรัฐ คือปืนของเรา” ของบีอาร์เอ็น เพียงแต่หน่วยงานความมั่นคง “ไม่เคยสำเหนียก” กับบทเรียนที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้ใส่ใจป้องกัน เพราะเชื่อว่าหน่วยงานพลเรือนไม่ใช่เป้าหมาย จึงปล่อยให้ป้องกันตนเองกันไปเพียงลำพัง

เรื่องการปล่อยหน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือนให้อยู่ตามลำพัง ให้ป้องกันตัวกันเอาเองตามมีตามเกิด เรื่องนี้ถือเป็นจุด “เปราะบาง” อย่างยิ่ง เพราะหากบีอาร์เอ็นต้องการเข้าโจมตีเพื่อการสร้างสถานการณ์ หรือต้องการปล้นปืนเมื่อไหร่ ก็ทำได้ง่ายประดุจปอกกล้วยใส่ปากด้วยซ้ำ

หลังเกิดเหตุปล้นปืนแล้ววางเพลิงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา สังคมต้องติดตามดูว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะการวางมาตรการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานพลเรือนซ้ำอีก

ต้องไม่ลืมว่า เจ้าหน้าฝ่ายพลเรือนมีขีดความสามารถป้องกันตนเองไม่มากนัก เพราะไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น ประเด็นนี้คงไม่กล้า “สอนสังฆราช” แต่เป็นเรื่องที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และโดยเฉพาะ “ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4” คนใหม่อย่าง พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ต้องคิดอ่านเอาเอง

ประเด็นต่อมา มีเสียงวิจารณ์ว่า หน่วยงานความมั่นคงจะประกาศให้บีอาร์เอ็นเป็น “องค์กรก่อการร้าย” ซึ่งส่วนใหญ่ของ “นักวิชาการ” และ “ภาคประชาสังคม” ในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการยกสถานะสู่ “สากล” และเปิดช่องให้ไปจับมือ “องค์กรก่อการร้ายสากล” โดยเฉพาะที่เคลื่อนไหวอยู่ในตะวันออกกลางและฟิลิปปินส์

อีกทั้งกังวลว่าจะทำให้ “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” ขับเคลื่อนต่อลำบาก เพราะเป็นการเสริมความได้เปรียบให้ฝ่ายบีอาร์เอ็น และที่สำคัญจะเป็นเงื่อนไขสำคัญให้ “องค์กรต่างชาติ” เข้ามาแทรกแซงปัญหาไฟใต้ของไทยเราได้สะดวกขึ้น

ในอีกแง่มุมของไฟใต้ระลอกใหม่ที่ดำเนินมา 20 ปี หน่วยงานความมั่นคงให้นิยามว่าเป็น “ปัญหาความไม่สงบ” ไม่ใช่ “การก่อการร้าย” โดยไม่ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็น “องค์การก่อการร้าย” ดังนั้นนโยบายในการแก้ปัญหาจึงเป็นอีกรูปแบบที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น

ตลอด 20 ปีไฟใต้ระลอกใหม่คงประจักษ์ชัดแล้วว่า นโยบายการแก้ปัญหาในกรอบนิยามความไม่สงบจึงไม่ได้ผล “ถมงบประมาณไปแล้วถึงกว่า 600,000 ล้านบาท” แต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะไฟใต้มอดดับ ทว่ากลับมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ไม่น่าพึงพอใจมากขึ้น

โดยเฉพาะประเด็น “สู่สากล” ต้องพึงระวังว่า เวทีพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นมี “ประเทศที่สาม” อย่างมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก แถมยังมีตัวแทน “องค์กรชาติตะวันตก” เป็นผู้สังเกตการณ์ มีเอ็นจีโอต่างชาติอย่าง “เจนีวาคอลล์” ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นอยู่ทุกวันนี้

หากพิจารณาจะเห็นว่าวันนี้บีอาร์เอ็นน่าไม่จะแตกต่างกับ “องค์กรก่อการร้าย” ขาดเพียงยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ ไม่เปิดเผยตัว “แกนนำ” เพราะต้องการให้เป็น “องค์กรลับ” ทั้งที่ประกาศเป้าหมายชัดมาตลอดว่า “ปาตานีเมอร์เดก้า” หรือการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่ใช่แค่ “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง”

การชิง “ตัดหน้า” ประกาศให้บีอาร์เอ็นเป็นองค์การก่อการร้าย อาจเป็นผลดีที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบการแก้ปัญหา เพราะการใช้กฎหมายกับพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ “การก่อความไม่สงบ” กับ “การก่อการร้าย” แตกต่างกัน แต่ที่ไฟใต้ดำเนินมาต่อเนื่อง 20 ปีทำไมยังไม่เห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” แต่อย่างใด

การประกาศให้บีอาร์เอ็นได้เป็นองค์กรก่อการร้ายที่มีความเป็นสากลมากขึ้น อาจทำให้การเจรจาระหว่าง “รัฐบาลไทย” กับ “รัฐบาลมาเลเซีย” เป็นไปในรูปแบบใหม่ เพราะเสือเหลืองไม่ใช้ให้ที่พักพิงแก่บรรดาแกนนำ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” แต่กลายเป็นหนุน “กลุ่มก่อการร้ายสากล” ไปในทันที

เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร ซึ่งคงต้องฟังเสียงหน่วยงานความมั่นคงด้วย ไม่ใช่ฟังแต่เสียงนักวิชาการและภาคประชาสังคม ซึ่งในความเป็นจริงนักวิชาการและภาคประชาสังคมมีทั้งพวก “โลกสวย” และ “อิงแอบแนบชิด” กับฝ่ายบีอาร์เอ็น

อีกประเด็นที่นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงพวกใต้ปีกทางการเมืองบีอาร์เอ็น กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันคือ ไม่เห็นด้วยกับข่าวการเปลี่ยนตัว “หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข” จาก “พลเรือน” ที่ปัจจุบันคือ “ฉัตรชัย บางชวด” รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็น “นายทหาร”

แต่โดยข้อเท็จจริงไม่ว่า “หัวหน้าคณะพูดคุย” หรือ “ประธานฝ่ายเทคนิค” มีอำนาจไม่ต่างกัน กล่าวคือ ต่างก็ไม่มีอิสระในการตัดสินใจเมื่อเจรจากับบีอาร์เอ็น ซึ่งทุกอย่างมี “ใบสั่ง” ทั้งนั้น สังเกตได้จากนายฉัตรชัยทำหน้าที่มากว่า 1 ปี แต่ไม่สามารถลงนามร่างข้อตกลง (JCPP) ตามที่คาดหวังอะไรได้

ดังนั้น หัวหน้าคณะพูดคุยไม่ว่าเป็นพลเรือน ทหารหรือตำรวจ นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ ในเมื่อการเจรจาเป็นเพียงสัญลักษณ์ของ “ความจอมปลอม” ในการสร้างสันติภาพ เพราะทั้งสองฝ่ายต่าง “รู้เช่นเห็นชาติ” หรือไม่ต่างจาก “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” หากเปรียบก็เหมือน “นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง” นั่นเอง

และที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษด้วยคือ มีข่าวว่าจะย้าย “นันทพงศ์ สุวรรณรัฐ” จากรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปนั่งขัดตาทัพในตำแหน่ง “เลขาธิการ สมช.คนใหม่” 1 ปีก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ

ทั้งหมดทั้งปวงคือ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่กำลังเกิดขึ้นและมีผลโดยตรงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องจับตากันใกล้ชิดต่อไปว่าจะสร้าง “ผลบวก” หรือ “ผลลบ” ต่อประชาชนในพื้นที่ และโดยเฉพาะต่อมาตรการดับไฟใต้นับเนื่องจากนี้ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น