xs
xsm
sm
md
lg

“คดีตากใบ” ที่ไม่ชัดเจนอาจเป็นเงื่อนไขให้บีอาร์เอ็นเร่งเหตุรุนแรงช่วงตุลาคมนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  โดย… ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล เสียงปืนและเสียงระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เงียบหายไปกว่า 2 สัปดาห์ ไม่ได้หมายถึง “ความสำเร็จ” ในการป้องกันเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร ตำรวจ รวมถึงกองกำลังท้องถิ่นที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายปกครอง

แต่เป็นเพราะกองกำลังติดอาวุธฝ่ายบีอาร์เอ็น ไม่พร้อมลงมือ เนื่องจากยังไม่มีเป้าหมายเพียงพอให้ก่อเหตุร้ายได้ รวมทั้งไม่มีเงื่อนไขให้ไปใช้ “สร้างสถานการณ์” เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในพื้นที่ต่างหาก

แต่เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเป้าหมายหลัก “เปิดช่องโหว่” หรือเกิดการ “ประมาทเลินเล่อ” เมื่อนั้น กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นที่เตรียมพร้อมตลอดเวลาในแต่ละพื้นที่ พวกเขาก็พร้อมจะเปิดปฏิบัติการในทันที

เหตุยิงถล่มใส่ที่ทำการ อบต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เสียหายยับเยิน ขณะที่รถดับเพลิงและตู้เอทีเอ็มด้านหน้าก็ถูกวางเพลิงไปด้วย ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ยังไม่สามารถ “ออกหมายจับ” ใครได้ มีเพียงตั้งข้อสงสัยเป็นฝีมือ “แนวร่วม” ที่เคยวางระเบิดรูปปั้นนางเงือกที่แหลมสมิหลา อ.เมืองสงขลา เมื่อปี 2561

แถมยังตามมาด้วยการลอบวางระเบิดรถยนต์หุ้มเกราะของทหารพราน ฉก.33 พลิกท้องตีลังกาที่ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย เจ้าหน้าที่เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุได้เป็นเครื่องส่งวิทยุและอุปกรณ์หลายชิ้น ซึ่งพบว่าถูกส่งมาจากประเทศมาเลเซีย

มีสิ่งสำคัญที่ต้องเขียนถึงคือ จากรายงานการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นทหารพรานชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยในเส้นทางหมู่บ้าน โดยมักจะจอดรถพักในจุดที่ถูกระเบิดเป็นประจำ นี่จึงกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้แนวร่วมที่ “เกาะหลัง” มาตลอดเปิดปฏิบัติการอย่างได้ผล

ที่จริงความสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่หลายครั้งไม่ควรจะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เพราะหากการลาดตระเวนปฏิบัติตามยุทธวิธีอย่างถูกต้อง หรือทำตามที่ทุกหน่วยต้องผ่านการฝึกฝนและมีการฝึกทบทวนกันมาแล้วอย่างสม่ำเสมอ เช่น การลาดตระเวนด้วยรถจักรยานยนต์ต้องมีการ “ทิ้งระยะห่าง” ไม่ควรที่จะเกาะกลุ่มกันไป เพราะเมื่อถูกซุ่มโจมตีจะได้ช่วยเหลือกันได้ และอาจจะไม่สูญเสียทั้งหมด

แต่จากการสังเกตและดูผลการสืบสวนสอบสวนหลายคดีพบว่า “ชุด ชคต.” ที่ทำหน้าที่ รปภ.ครูระหว่างเดินทางมักจะ “เกาะกลุ่ม” กันไป เมื่อถูกโจมตีไม่ว่าจะด้วยระเบิดหรืออาวุธปืน จึงมักจะสูญเสียเกือบทั้งหมด ไม่ต่างกับทหารที่ถูกโจมตีที่ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 นั่นเอง
ประเด็นนี้ ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารในพื้นที่ต้องไม่ละเลย ต้องถอดบทเรียนว่าเกิดขึ้นปีละกี่ครั้ง เพื่อนำมา “ปิดจุดอ่อน” ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะเป็นการสูญเสียที่ป้องกันได้ ที่สำคัญต้องไม่ให้มีการเกิดขึ้นในลักษณะขึ้นอีกด้วยซ้ำ

จากเหตุโจมตีและเผาที่ทำการ อบต.บ้านโหนด และเหตุลอบวางระเบิดทหารพรานที่ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา นั่นถือเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ว่าในเดือน ต.ค. 2567 ที่จะถึงจะต้องมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกระลอกเป็นแน่ เพราะมี “หัวเชื้อ” ให้บีอาร์เอ็นใช้ในการสร้าง “เงื่อนไข” ได้นั่นคือ กรณีครบรอบ 20 ปี “เหตุการณ์ตากใบ”

ครั้งนั้นประชาชนที่ชุมนุมล้อม สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส กดดันเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยตัว “ชุด ชรบ.” 5 คน ที่นำปืนหลวงไปมอบให้แนวร่วม แต่เหตุการณ์บานปลายสู่การล้อมปราบและขนผู้ถูกจับกุมด้วยรถทหารไปยังค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 80 ศพ

ผ่านไปกว่า 19 ปีเพิ่งมีการดำเนินคดีได้สำเร็จจากการยื่นฟ้องของญาติผู้ตาย ซึ่งศาลจังหวัดนราธิวาสได้ไต่สวนและประทับรับฟ้องในคดีอาญาไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยมี “เจ้าหน้าที่ระดับสูง” ในพื้นที่ช่วงปี 2547 ตกเป็นจำเลยถึง 7 คนด้วยกัน

ที่สำคัญพนักงานอัยการเองเพิ่งจะมีการคำสั่งฟ้อง “เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ” 8 คน ในข้อหาทำให้มีคนตายจากการควบคุมการขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวในครั้งนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจในการออกหมายจับเพื่อนำตัวมารับทราบข้อกล่าวหา

หากตำรวจไม่สามารถติดตาม “ว่าที่จำเลย” มาส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสได้ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 คดีนี้จะหมดอายุความตามกฎหมายในทันที

ดังนั้น ในเดือนตุลาคมปี 2567 อาจจะได้เห็น “มวลชน” ในภาคประชาสังคม กลุ่มสิทธิมนุษยชน รวมถึงใต้ปีกทางการเมืองบีอาร์เอ็นออกมาเคลื่อนไหวกันคึกคัก โดยเฉพาะเพื่อกดดันสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาได้มีกลุ่มคนคณะใหญ่ของ “องค์กรต่างชาติ” เดินทางเข้าพบผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้นำหน่วยงานความมั่นคงในชายแดนใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า “องค์กรชาติตะวันตก” ที่เข้ามาเคลื่อนไหวในชายแดนใต้มีจุดประสงค์ที่จะแทรกแซงกิจการด้านความมั่นคง โดยเฉพาะได้เข้ามาจัดตั้งเครือข่ายสนับสนุนการวาง “นโยบายการพูดคุยสันติภาพ” มาก่อนแล้วอย่างเปิดเผย

ที่สำคัญในเดือนตุลาคมนี้จะมีการแต่งตั้ง “แม่ทัพภาคที่ 4” และ “เลขา สมช.” คนใหม่ โดยเฉพาะตำแหน่งหลังข่าววงในระบุว่าจะมี “เสือข้ามห้วย” มาจากหน่วยงานอื่น อันถือเป็นการตัดสิทธิลูกหม้อ สมช.ไม่ให้ได้ขึ้นตำแหน่งสูงสุดในองค์กร

เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมานานตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานด้านการวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ แต่กลับใช้ สมช.หนุนเสริมความมั่นคงทางการเมืองหรือของนายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า

ไม่ต่างอะไรกับมองตำแหน่งเลขา สมช.เป็นเพียง “ของปลอบใจนายพลอกหัก” จากตำแหน่งหลักในกองทัพ ซึ่งนี่คือ “เงื่อนไข” ที่เปิดโอกาสให้บีอาร์เอ็นใช้ขับเคลื่อนได้ทั้ง “งานมวลชน” และ “งานการทหาร” ควบคู่กันไป

โดยเฉพาะ “กองกำลังรักษาดินแดน” ที่เป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของบีอาร์เอ็นช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพราะต้องทำหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ที่มีกระจายอยู่มากมาย ซึ่งในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาได้เห็นการ “ข่มขู่ให้ลาออก” กันยกใหญ่มาแล้ว

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวในชายแดนภาคใต้ที่ต้องติดตามกันอย่ากะพริบตา และก็อย่าได้มุ่งหวังว่าจะมีการป้องกันได้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีหน่วยงานไหนที่จะป้องกันการก่อการร้ายของบีอาร์เอ็นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ฉากทัศน์ที่เห็นจนคุ้นชินสำหรับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “พิธีรดน้ำศพ” และ “การจ่ายเงินเยียวยา” เพื่อให้ “จบข่าว” นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น