ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมทรัพยากรธรณีชี้เขาพระใหญ่ ภูเก็ต ดินยังถล่มอีก เสนอทางออกทำตะแกรงดักป้องกัน ด้านนักวิชาการ ม.อ.ภูเก็ตบินโดรนสำรวจและวัดระดับด้วยเครื่อง Total station ก่อนนำข้อมูลไปทำแบบจำลองกระจายน้ำแก้ปัญหา
นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมคณะลงพื้นที่เทือกเขานาคเกิด (เขาพระใหญ่) ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต นำโดยนายจตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อสำรวจแนวร่องน้ำป่าไหลหลาก จนทำให้เกิดดินสไลด์ลงไปทับบ้านเรือนของประชาชนในชุมชน
หลังจากนั้นทางคณะรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และคณะเดินทางต่อไปปฎักซอย 8 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เพื่อดูสภาพแนวการไหลลงมาดินจากด้านบนเทือกเขานาคเกิด ทั้งนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อจัดทำแผนและมาตรการในการรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมาอีก ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้น พบว่าในพื้นที่ ต.กะรน ยังมีโอกาสที่จะเกิดการสไลด์ได้อีกหากมีฝนตกหนักและตกติดต่อกันเป็นเวลานาน
นายสุวภาคย์ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ถึงแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดดินสไลด์ซ้ำขึ้นอีก ว่า จาการสำรวจพบชั้นดินและหินบริเวณเทือกเขานาคเกิดมี 2 ลักษณะ ในส่วนที่ถล่มนั้นจะเป็นชั้นดินที่อยู่ตามเชิงเขา ซึ่งง่ายต่อการถล่มและได้ถล่มไปแล้ว ในขณะที่ส่วนอื่นเป็นหินแกรนิตที่ผุกร่อน
แต่ยังมีอีกโซนที่ยังมีโอกาสถล่มลงมาอีก ดังนั้นจะต้องมีการวางมาตรการดูแลตามลักษณะของธรรีวิทยา เพื่อป้องกันไม่ให้หินที่ค้างอยู่ด้านบนไหลลงไป ซึ่งแนวทางในการป้องกันที่เหมาะสม คิดว่าควรทำตะแกรงกั้น 3-4 ชั้น ตามร่องต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หินไหลลงไปด้านล่างหากมีน้ำป่าไหลหลาก ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมในการทำตะแกรง กับการศึกษาการไหลของน้ำ ไม่ให้ไหลไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพราะเชื่อว่าหากมีฝนตกหนักและมีน้ำฝนประมาณ 200 มิลลิเมตร มีโอกาสจะถล่มลงมาได้อีก
ขณะที่นายจตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดี ฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.อ.ภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากได้รับการประสานจากทางจังหวัดภูเก็ตให้มาช่วยดำเนินการสำรวจในเรื่องของการเบี่ยงทางน้ำ เนื่องจากพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุในพื้นที่ชุมชนกะตะ มีความหวาดกลัวว่า หากมีฝนตกหนักลงจะมีดินสไลด์ลงมาอีก
โดยใช้โดรนและการวัดระดับด้วยเครื่อง Total station เพื่อทำแบบจำลอง ให้มีการกระจายน้ำไปตาทิศทางต่างๆ ไม่ให้กระจุกอยู่เพียงจุดใดจุดหนึ่งซึ่งจะอันตราย เมื่อได้แบบจำลองแล้วจะนำเสนอจังหวัดเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป