xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพยากรธรณีมอบอุปกรณ์วัดน้ำฝนและแผนที่เสี่ยงดินถล่มให้ภูเก็ต ใช้เป็นเครื่องมือแจ้งเตือนภัยดินถล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมทรัพยากรธรณีมอบอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน สำหรับเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม และแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มให้จังหวัดภูเก็ต ใช้เป็นเครื่องมือเฝ้าระวังดินถล่ม พร้อมศึกษาข้อมูลทำตะแกรงกันดินหินถล่มใส่หมู่บ้าน


วันนี้ (11 ก.ย.) นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี มอบอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน สำหรับการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม หรือกระบอกวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน 30 กระบอก ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไปติดตั้งวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เสี่ยง 30 หมู่บ้าน รับมอบ และมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และทางกรมทรัพยากรธรณียังได้มอบแผ่นที่จุดเสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม 15 ตำบลให้ทางจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย ณ ห้องประชุมมุกอันดา ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต


รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณีได้อธิบายถึงวิธีการติดตั้ง ที่จะต้องติดตั้งในที่โล่ง การจดบันทึกปริมาณน้ำฝนที่ตกแต่ละครั้ง และปริมาณน้ำฝนสะสมให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งแจ้งการเตือนภัยหากปริมาณน้ำฝนสะสมวัดได้เกิน 100-150 มิลลิเมตร ให้มีการแจ้งเตือนและเตรียมความพร้อมในการอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย และหากน้ำฝนที่ตกสะสมเกิน 200 มิลลิเมตร ภายในวันเดียว จะต้องมีการอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะโอกาสที่ดินจะสไลด์ลงมามีสูงมาก จากที่ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้จากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมาก


การมอบอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝนสำหรับการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม ให้จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงทั้ง 8 จุด เนื่องจากในช่วงมรสุมของปีนี้ภูเก็ตได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มมาแล้ว 2 ครั้ง จากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 น้ำป่าและดินจากเทือกเขากมลาไหลหลากลงมาพร้อมกับก้อนหินและทรายเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านหัวควน ต.กมลา อ.กะทู้ อย่างรวดเร็ว ครั้งนั้นวัดปริมาณน้ำฝนได้กว่า 300 มิลลิเมตร ครั้งที่ 2 ดินจากเทือกเขานาคเกิดสไลด์ลงมาทับบ้านเรือนประชาชนในซอยปฏัก 2 ต.กะรน อ.เมือง บ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลัง มีผู้เสียชีวิตถึง 13 ศพ ครั้งนั้นวัดปริมาณน้ำฝนได้กว่า 200 มิลลิเมตร ทางกรมทรัพยากรธรณีจึงได้นำกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนดังกล่าวมามอบและติดตั้งในพื้นที่เสียงของภูเก็ต 30 จุด เพื่อเฝ้าระวังและใช้เป็นข้อมูลในการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง


นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีพบว่าในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตมีความเสี่ยงที่ดินจะถล่มลงมาตามร่องซึ่งกินพื้นที่ไม่มากนักเพื่อเทียบกับดินที่ถล่มลงมาในภาคอื่นๆ เช่น ทางภาคเหนือที่ถล่มลงมาเป็นภูเขา เสียหายเป็นหมู่บ้าน และดินจากภูเขาในภูเก็ตจะถล่มลงมาเฉพาะในช่วงมรสุมเท่านั้น ทำให้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวัง รวมไปถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งในการแก้ปัญหานั้นจะต้องเตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม คือ สำรวจ ประเมินแผนที่เสี่ยงใหม่ การติดตั้งเครื่องมือให้ครบถ้วน และให้ชุมชนได้รับรู้รับทราบว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม


โดยทางกรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำแผนที่เสี่ยงดินถล่มในภูเก็ตใหม่ทั้งหมดแล้ว มีจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง 8 จุด อยู่ทางฝั่งตะวันตก จำนวน 15 จุด 15 ตำบล พร้อมทางหนีภัยอย่างละเอียด มอบให้ทางจังหวัดภูเก็ตในการเฝ้าระวัง และมีการมอบเครื่องมือในการเฝ้าระวังที่เป็นกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนและน้ำฝนสะสม จำนวน 30 ชุด นำไปติดตั้งตามชุมชนเสี่ยง เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงได้เตือนภัยตัวเองได้ เช่น ในพื้นที่เสี่ยงที่มีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานวัดปริมาณน้ำฝนได้เกิน 100 มิลลิเมตร ถือว่ามีความเสี่ยงแล้ว และยิ่งน้ำที่ไหลลงมาเป็นสีเหลืองขุ่นด้วยแล้ว จะต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการอพยพหนีภัย


ส่วนแนวทางในการแก้ไขนั้น รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ทางกรมจะแนะนำให้ทางจังหวัดภูเก็ตปลูกไม้คลุมดิน เพื่อยึดหน้าดินให้แข็งแรงไม่ถล่มลงมา พร้อมทั้งได้มีประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาทำโครงสร้างตะแกรงติดตั้งตามจุดเสี่ยงทั้ง 8 จุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดดินถล่มลงมาถึงชุมชน





กำลังโหลดความคิดเห็น