xs
xsm
sm
md
lg

“พระใหญ่” จะได้ไปต่อหรือหยุดแค่นี้ หลังตกเป็นจำเลยของสังคมเหตุโศกนาฏกรรมดินถล่มฝังทั้งเป็น 13 ศพ ในพื้นที่ ต.กะรน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “พระใหญ่” อีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญทางด้านการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต “จะได้ไปต่อหรือหยุดแค่นี้” หลังตกเป็นจำเลยสังคมโศกนาฏกรรมดินถล่มฝังทั้งเป็น 13 ศพ ในพื้นที่ ต.กะรน


จากกรณีเกิดเหตุดินถล่มในพื้นที่หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต จนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมฝังคนทั้งเป็น 13 ศพ นอกจากนั้น ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย บ้านเรือนประชาชน บ้านเช่า ห้องเช่า ได้รับความเสียหายมากกว่า 250 หลัง ชาวบ้านไร้ที่อยู่อีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุดินถล่ม สังคมเริ่มตั้งข้อสงสัยถึงสาเหตุของดินถล่มในครั้งนี้ ซึ่งจากข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี ได้ระบุว่า พื้นที่เกิดเหตุดินถล่มอยู่ในพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มระดับปานกลางถึงสูง ลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินแกรนิตผุพัง ประกอบกับมีฝนตกหนักต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 200 มิลลิเมตร ทำให้ชั้นดินบนภูเขาอุ้มน้ำไว้มากและขาดเสถียรภาพจึงถล่มลงมา

นอกจากนั้น ในโลกโซเชียลยังได้ตั้งข้อสงสัยกรณีมีการปรับพื้นที่ทำลานจอดรถของ “พระใหญ่” โดยมีการเปิดหน้าดิน และการก่อสร้างเพิ่มเติมด้านหลังองค์พระใหญ่ เนื่องจากมีการตรวจพบร่องรอยที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของดินถล่ม ซึ่งอยู่ห่างจากลานจอดรถไม่ถึง 5 เมตร จนมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้พื้นที่ของ “พระใหญ่” บนเขานาคเกิด หลังจากนั้นทางกรมป่าไม้ได้สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ จากการตรวจสอบพบว่า พระใหญ่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพิ่มจากที่ขอใช้อีกกว่า 5 ไร่ซึ่งเดิมมีการขอใช้พื้นที่เพียง 14 ไร่ ซึ่งขณะนี้ทางป่าไม้ภูเก็ต ได้แจ้งความดำเนินคดีกับทางมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 และกันแนวเขตห้ามใช้พื้นที่ไว้แล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กะรน


ต่อมาในโลกโซเชียลยังได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 หลังพบว่าเมื่อปี 2566 “มูลนิธิ” มีรายได้จากการที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปทำบุญ และการเปิดรับบริจาค ประมาณ 86 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเหลือกว่า 30 ล้านบาท แต่เมื่อมาดูยอดเงินในบัญชีกลับพบว่า มีเหลืออยู่เพียงหลักแสนเท่านั้นทำให้เกิดข้อกังขาว่าเงินมหาศาลหายไปไหน อยู่ที่ใคร

ล่าสุด ทางเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ส่งไปถึงเจ้าอาวาสวัดกิตติสังฆาราม หรือวัดกะตะ เรื่อง ให้หยุดดำเนินการสิ่งปลูกสร้างและหยุดดำเนินการใดๆ บนพื้นที่ป่าเทือกเขานาคเกิดทุกกรณี โดยใจความของหนังสือ ระบุว่า “ตามที่มีข่าวดินโคลนถล่ม บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ท้องที่ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนราษฎรและทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป้าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และแก้ไขเพิ่มเติม (ขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564) ต่อสำนักงานทรัพยากรธรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ตามเอกสาร ป.ส.20 ฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2563


เพื่อสร้างหรือเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมิ่งมงคลเอกนาคคีรี สถานที่ปฏิบัติธรรมและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา (เขานาคเกิด) ของวัดกิตติสังฆาราม ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตนั้น จึงให้วัดกิตติสังมาราม หยุดการดำเนินการใดๆ บนพื้นที่ป่าเทือกเขานาคเกิดทุกกรณี และให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด จนกว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจนแล้วเสร็จ”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการดำเนินการอย่างไรกับ “พระใหญ่” แลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดภูเก็ต จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะยังคงเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป หรือหยุดไว้เพียงแค่นี้ ซึ่งที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตอีกแห่งหนึ่ง ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมากราบไหว้ “พระใหญ่” กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งคนไทยจากต่างจังหวัด และชาวต่างชาติ


สำหรับบรรยากาศที่พระใหญ่ เขานาคเกิด จ.ภูเก็ต วันนี้ (1 ก.ย.) พบว่ายังมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาสักการะตามปกติ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย และตะวันออกกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ของวัดคอยอำนวยความสะดวก และมีการประกาศประชาสัมพันธ์เรื่องของการใช้ห้องน้ำและที่จอดรถ เนื่องจากทางกรมป่าไม้ได้ประกาศห้ามใช้พื้นที่บางจุดที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ที่ข้ออนุญาตไว้ 15 ไร่ เช่น ลานจอดรถบางส่วน อาคารห้องน้ำ และอื่นๆ ส่วนกิจกรรมที่เคยทำก่อนหน้านี้ ทางพระใหญ่ได้หยุดการดำนินการใดๆ ไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม ของที่ระลึก ร้านน้ำ รวมทั้งเรื่องของการรับบริจาค กระเบื้องหินอ่อน การทำบุญซื้อกระเบื้อง การทำบุญค่าน้ำค่าไฟ การสอนสมาธิ การถวายสังฆทาน และอื่นๆ ต่างได้หยุดการทำกิจกรรมทั้งหมด แต่ภายในพระใหญ่ยังคงมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่

“พระใหญ่” หรือพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคาคีรี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบร่วมสมัย งบประมาณการจัดสร้างประมาณ 80 ล้านบาท ตั้งอยู่บนยอดเขานาคเกิด ตำบลกะรน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมีความกว้าง 25.45 เมตร ความสูง 45 เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต” (สุริยกันตะ) จากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อนหยกขาวประมาณ 135 ตัน หรือประมาณ 2,500 ตารางเมตร ความสำคัญในการก่อสร้าง พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรีนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสันติ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและความหวัง โดยอาศัยการร่วมมือร่วมใจบริจาคของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย จนทำให้เกิดพระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต ตั้งตระหง่านบนยอดเขานาคเกิด


ที่มาของพระใหญ่แห่งนี้เกิดขึ้นโดยวัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) ได้ดำเนินตามโครงการส่งเสริมให้วัดช่วยงานด้านป่าไม้ เนื้อที่ 42 ไร่ จึงเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 25.45 เมตร สูง 45 เมตร หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 19 องศา บนยอดเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ไว้เป็นที่เคารพบูชาของชาวภูเก็ตและผู้มีจิตศรัทธาที่ขึ้นมาไหว้พระ สามารถร่วมทำบุญ ซื้อกระเบื้อง หรือหินอ่อน และลงลายมือชื่อผู้บริจาคเพื่อให้เป็นที่จารึกตลอดไป


กำลังโหลดความคิดเห็น