xs
xsm
sm
md
lg

(มีคลิป) พบ 8 จุดเสี่ยงดินโคลนถล่มบนเทือกเขาทั่วเกาะภูเก็ต เร่งหามาตรการป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดินโคลนถล่ม เป็นอีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่ภูเก็ตต้องเผชิญเมื่อมีฝนตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งในรอบปีนี้ ภูเก็ตต้องเผชิญกับปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านหัวควน ต.กมลา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน หลังฝนตกหนัก น้ำฝนสะสมกว่า 300 มิลลิเมตร ครั้งนั้นน้ำป่าจากเทือกเขากมลา ได้พัดพาต้นไม้ ก้อนหินและทรายไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนแบบไม่ทันได้ตั้งตัว สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนประชาชนจำนวนหลายหลัง แต่ครั้งนั้นยังโชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต



ผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน ภูเก็ตเกิดฝนตกหนักอีกครั้ง ในคืนวันที่ 23 สิงหาคม ปริมาณน้ำฝนสะสมที่วัดได้กว่า 200 มิลิเมตร ทำให้ดินบนเทือกเขานาคเกิดอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว ถล่มลงมาพร้อมด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ ทับบ้านเรือนประชาชนที่อยู่บริเวณเชิงเขา ในพื้นที่ ปฏัก ซอย 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 50 หลัง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านถูกดินโคลนทับเสียชีวิตถึง 13 ศพ นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งของภูเก็ต

จากเหตุการณ์น้ำป่าจากเทือกเขากมลาไหลบ่าลงมาอย่างเร็ว และดินจากเทือกเขานาคเกิดถล่มลงมา สร้างความเสียหายในวงกว้าง จังหวัดภูเก็ต และกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการศึกษาจุดเสี่ยงและแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดดินถล่มลงมาอีก โดยได้บินสำรวจมาประกอบกับแผนที่จุดเสี่ยงของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ตามเทือกเขาต่างๆ มีรอยร้าวของดินบนภูเขา และร่องรอยน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ที่เป็นทั้งรอยเก่าและรอยใหม่ ตั้งแต่หัวเกาะยันท้ายเกาะ ถึง 8 จุดด้วยกันที่ดินจะถล่มลงมา เพราะจากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า โครงสร้างดินภูเขาของภูเก็ต เป็นดินผสมกับหินแกรนิต ซึ่งมีอายุกว่า 70-100 ปี ทำให้มีสภาพที่ผุพัง เมื่อถูกน้ำพัดลงมาทำให้แตกกลายเป็นเศษหินขนาดเล็กไหลมาพร้อมกับน้ำจำนวนมาก อย่างเช่นที่บ้านหัวควน ต.กมลา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและมีโอกาสที่ดินจะสไลด์ลงมานั้น มีถึง 8 จุดด้วยกัน เช่น ที่เทือกเขากมลา มีถึง 2 จุด คือ จุดที่บ้านหัวควน และจุดบ้านบางหวาน รวมไปถึงบ้านเหนือ บ้านโคกยาง บ้านนาคา เทือกเขาป่าตอง จุดในพื้นที่ชุมชนบ้านนาใน ชุมชนชายวัด ชุมชนโคกมะขาม ชุมชนบ้านมอญ เทือกเขานาคเกิด ในพื้นที่กะรน และโดยเฉพาะจุดที่เกิดล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา จากการบินสำรวจพบว่ามีรอยเพิ่มขึ้นมาอีก 2 รอย ที่มีโอกาสที่ถล่มลงมาได้ จุดเสี่ยงบนภูเขาในพื้นที่น้ำตกกะทู้ บ้านครองชีพ ชุมชนบ้านเชิงทะเล เป็นต้น

ดินโคลนจากภูเขาถล่มลงมานั้นเป็นปัญหาที่จังหวัดภูเก็ตจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำอีก และสิ่งสำคัญจะต้องแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การเปิดหน้าดินบนภูเขา ดินโคลนถล่มลงมาจากเขานาคเกิดแม้จะไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ แต่สังคมได้มุ่งเป้าไปที่การเปิดหน้าดิน ตัดต้นไม้บนยอดเขานาคเกิด


กำลังโหลดความคิดเห็น