ตรัง - หนังตะลุงชื่อดังชาวตรัง จับมือกระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการสอนหนังตะลุงเด็กและเยาวชน หวังฝึกต้นกล้ารุ่นใหม่ให้เก่งกล้า เพื่อนำไปสู่การแสดงเป็นอาชีพเลี้ยงตัว และรักษาเอาให้คงอยู่สืบไป
ที่บ้านนายหนัง หมู่ที่ 5 ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นบ้านของหนังอาจารย์อนันต์ สิกขาจารย์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง ปี 2534 แชมป์หนังตะลุงแห่งประเทศไทย รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เปิดเป็นวิชชาลัยหนังตะลุง ศูนย์ฝึกอันดามัน อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และมีการสร้างโรงหนังตะลุงเล็กๆ เอาไว้สำหรับการฝึกฝนเด็กและเยาวชนที่รักในการแสดง หรือขับหนังตะลุง ได้มาฝึกหัด
ล่าสุด ได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นครั้งที่ 7 แล้ว เพื่อเปิดโครงการสอนหนังตะลุงเด็กและเยาวชน ตอนที่ 1 เกร็ดความรู้จากครูหนังเชิงปฏิบัติการ โดยทุกคนจะได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านการแสดงบนโรงใหญ่ ทั้งการเชิด และการขับกลอนหนัง ด้วยการสอนของหนังอาจารย์อนันต์ และนายหนังตะลุงชื่อดังในจังหวัดตรัง และใกล้เคียง รวมกว่า 20 คณะ ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน นอกจากนั้น ยังมีเยาวชนรุ่นพี่ที่เคยผ่านโครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มีคณะหนังตะลุงเป็นของตนเองแล้ว ได้มาร่วมขับหนังตะลุงในโรงใหญ่นี้ด้วย
หนังอาจารย์อนันต์ สิกขาจารย์ บอกว่า กิจกรรมสอนหนังตะลุงให้แก่เด็กและเยาวชนนั้น ดำเนินการมาเป็นปีที่ 7 แล้ว แต่ไม่ได้ทำติดต่อกันทุกปี เนื่องจากช่วงหนึ่งเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้สามารถผลิตต้นกล้าหนังตะลุงได้แล้วหลายคน ทั้งลูกศิษย์ที่เป็นนายหนังตะลุง และเป็นลูกคู่หนังตะลุง เช่น มือปี่ กลอง กรับ ฉิ่ง ฉาบ ทับ โหม่ง และเครื่องดนตรีสากลต่างๆ จนหลายคนขณะนี้มีชื่อเสียงโด่งดังและออกรับงานการแสดงได้แล้ว โดยโครงการนี้จะเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งเกร็ดความรู้ และลีลาการแสดงในเวทีใหญ่
ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบันตนรู้สึกเป็นห่วงวงการหนังตะลุง เพราะมีงานว่าจ้างแสดงน้อยลง เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แตกต่างจากสมัยก่อนที่งานประจำปีทั่วภาคใต้ รวมทั้งงานวัดต่างๆ จะต้องจ้างหนังตะลุงไปแสดง เพราะเป็นศิลปะพื้นบ้านที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด ทำให้เด็กและเยาวชนยุคใหม่ขาดแหล่งวิชาความรู้ จนต้องหันไปเรียนและฝึกจากคลิปการแสดงทาง YouTube แต่ไม่ได้เกร็ดวิชามากนัก ตนจึงได้จัดโครงการสอนหนังตะลุงเด็กและเยาวชนขึ้น เพื่อนำไปแสดงเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว และรักษาเอาให้คงอยู่สืบไป
ด้าน น้องปลื้ม หรือ ด.ช.ปกรณ์เกียรติ ทองขวิด นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนดรุโณทัย จังหวัดตรัง บอกว่า ตนเริ่มสนใจการแสดงหนังตะลุงมาตั้งแต่ชั้น ป.4 แต่เพิ่งได้มาฝึกฝนแบบจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรก ทั้งการออกฤาษี การออกรูปพระอิศวรทรงโค หรือการขับกลอนหน้าบท ทำให้สามารถขับหนังตะลุงให้ครู และเพื่อนๆ ดูได้แล้ว พร้อมฝันอยากเป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงในอนาคต ส่วนสาเหตุที่ชอบหนังตะลุง เพราะตลก ได้สาระ ได้ธรรมะ และล่าสุดตนยังสามารถแกะรูปหนังตะลุงได้ด้วย ทั้งตัวฤาษี และตัวตลก
ขณะที่ หนังน้องพีท ลูกทุ่งวัฒนธรรม หรือ นายวรากร สามพรหม ซึ่งเป็นรุ่นพี่โครงการสอนหนังตะลุงเด็กและเยาวชนในครั้งก่อนๆ บอกว่า ตอนนี้ตนมีคณะเป็นของตัวเอง รับงานทั้งในพื้นที่จังหวัดตรังและต่างจังหวัด โดยยอมรับว่าการแสดงหนังตะลุงสมัยนี้ไม่ง่าย เพราะต้องสู้กับการแสดงอื่นๆ ที่สนุกสนาน โดยเฉพาะรำเวียนครก ดังนั้น นายหนังยุคใหม่จึงต้องปรับตัวเยอะมาก ต้องมีวิชาครบเครื่อง ต้องร้องเพลงเป็น ส่วนมุกตลกต่างๆ ต้องทันเหตุการณ์ จะได้มีงานแสดงบ่อยๆ แต่ถ้าพัฒนาการเล่นได้จนมีชื่อเสียงแล้ว ถ้าดังแล้วจะดังเลย