คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
ช่วงนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องที่ต้องให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟใต้หลายประการ
เรื่องแรก - รัฐบาลมาเลเซียเปลี่ยนตัว “ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุข” จาก “ดาโต๊ะ พล.อ.ตันสรี ซุลกิ๊ฟลี ไซนล อาบีดีน” อดีต ผบ.ทบ. เป็น “ดาโต๊ะ มูด ราบิน” อดีตนักการทูตและเจ้าหน้าที่ระดับสูงสภาความมั่นคงแห่งชาติของมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนตัวมาแล้วเป็นคนที่ 3
ความจริงแล้วการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น เริ่มครั้งแรกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกว่า “การพูดคุยสันติภาพ” แต่พอมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้สึก “แสลงหู” และเห็นว่าเป็นการ “ยกฐานะฝ่ายตรงข้าม” จึงเปลี่ยนให้เรียกว่าการ “พูดคุยสันติสุข” แทน
สาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซียเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกดังกล่าว ข่าวว่ามาจาก “นายพลเฒ่า” เป็นคนของรัฐบาลเก่าและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สร้างความไม่สบายใจให้ทั้งรัฐไทยและบีอาร์เอ็น ก็ต้องจับตากันต่อไปว่ารัฐบาลอันวาร์ อิบราฮิบ จะช่วยนำพากระบวนการพูดคุยสันติสุขในชายแดนใต้ของไทยไปในทิศทางไหน
ที่สำคัญ รัฐบาลอันวาร์ อิบราฮิบ เองก็ไม่แฮปปี้กับองค์กรต่างชาติ โดยเฉพาะ “เจนีวาคอลล์” ที่คอยหนุนหลังปีกการเมืองบีอาร์เอ็น และที่ต้องทำความเข้าใจคือ มาเลเซียไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกอย่างเดียว แต่ยังต้องการกำกับฝ่ายบีอาร์เอ็นให้ทำตามความต้องการด้วย
เรื่องที่สอง - ต่อเนื่องจากเรื่องแรก สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เป็นเลขาธิการ จัดประชุมบนเกาะภูเก็ต มีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโต๊ะพูดคุยสันติสุขเข้าร่วม ซึ่ง พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค กับ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพและรองแม่ทัพภาคที่ 4 มาร่วมในนาม “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”
โดยเฉพาะมีการระดมตัวแทนจาก “ทุกหน่วยข่าว” เข้าร่วมด้วย เพื่อถกแถลงถึงแนวทางขับเคลื่อนมาตรการดับไฟใต้ หลังมีข่าวสะพัดว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกของฝ่ายมาเลเซีย แต่ในที่ประชุมครั้งนี้กลับไร้เงา “พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์” ประธานฝ่ายเทคนิคคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย
ในที่ประชุมฝ่ายโปรฯ ฝรั่ง นำโดย สมช.เห็นว่า ควรให้คง “นโยบายเดิม” คือยังคงให้องค์กรจากชาติตะวันตกมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายให้แก่โต๊ะพูดคุยสันติสุข ไม่ว่าจะเป็น “เจนีวาคอลล์” หรือ “ไอซีอาร์ซี” ร่วมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่ยื่นมือให้การช่วยเหลือ เพราะเห็นถึงความเชี่ยวชาญในกระบวนการสร้างสันติภาพ
แม้หน่วยงานความมั่นคงไทยจะรู้สึกว่า ได้รับอานิสงส์จากองค์กรชาติตะวันตกกับเขาด้วย แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นหนุนฝ่ายบีอาร์เอ็นให้บรรลุเป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดนเสียมากกว่า นี่จึงเป็นความย้อนแย้งแบบ “หวังดีประสงค์ร้าย” หรือไม่
ข่าวว่ามีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับ สมช. แต่ไม่กล้าขัดแย้ง เพราะโดยอำนาจหน้าที่ สมช.คือหน่วยกำหนด “ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง” แต่พอออกนอกห้องกลับมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการมองแบบ “โลกสวย” ที่เอาแต่กอด “ทฤษฎี” แต่ไม่เคยสัมผัสข้อเท็จจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเชื่อกันว่า นับจากนี้ไปแนวทางดับไฟใต้จะ “ไม่มีเอกภาพ” เหมือนที่ผ่านมา เพราะทุกหน่วยทุกองค์กรที่มีหน้าที่ยังคงยึดถือข้อมูลที่เป็นความจริงและความเชื่อคนละชุด ซึ่งความจริงแล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดกว่า 20 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ ถ้ามองในภาพรวมก็มักเป็นเช่นนี้มาตลอด
เมื่อมาตรการดับไฟใต้ไม่มีเอกภาพ นั่นก็จะเป็นการเดินไปสู่ “กับดัก” ที่บีอาร์เอ็นต้องการให้เป็น อันจะนำพาไปสู่ “ความล้มเหลว” บนโต๊ะพูดคุยสันติสุขในที่สุด
เรื่องที่สาม - ความล้มเหลวของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่ไม่สามารถยุติหรือควบคุมการจัดกิจกรรมของฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม รวมถึงนักเรียนและนักศึกษาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ดูได้จากกิจกรรมกีฬาสีปี 2567 เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาของ “โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม” ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่ “ขบวนพาเหรด” ดูเหมือนเป็น “ขบวนสวนสนาม” เสียมากกว่า อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าต้องการ “สื่อถึงอะไร” และมีความหมายอย่างไร
ที่สำคัญดูเหมือนต้องการเปิดประเด็นให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกมา “เต้น” หรือ “ตักเตือน” หรืออาจถึงขั้นต้องการให้ “บังคับใช้กฎหมาย” ก็เป็นได้ ซึ่งเป็นการเดินเข้าสู่กับดักที่ฝ่ายการเมืองบีอาร์เอ็นวางไว้
ที่บอกว่าการทำหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ล้มเหลว เพราะก่อนหน้านี้ได้มีนโยบายชัดเจนว่า ไม่ให้จัดกิจกรรมที่มีลักษณะ “หมิ่นเหม่” ต่อความมั่นคง โดยเฉพาะห้ามไม่ให้มี “ภาพ” และ “ธง” ที่สนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์ แต่กลายเป็นว่ากิจกรรมกีฬาสีดังกล่าวทำให้รู้สึกได้ถึงแค่การ “สั่งขี้มูก”
โดยข้อเท็จจริง เวลานี้มาตรการดับไฟใต้มี 2 แนวทางที่ “ถูกต้อง” และ “ถูกทาง” โดยที่ สมช.ไม่จำเป็นต้องดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซง แนวทางแรกถ้าจะใช้การเจรจา รัฐบาลหรือกองทัพต้องบอกกับมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ชัดเจนแบบตรงไปตรงมาว่า เราต้องการคุยกับ “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ของบีอาร์เอ็น
ไม่ว่าจะเป็น “กาแม เวาะเล” หรือ “นิเซะ นิฮะ” หรือ “บือราเฮง ปะจุศาลา” โดยไม่ต้องการพูดคุยกับปีกการเมืองที่มี “หิพนี มะเระ” เป็นหัวหน้าคณะ เพราะเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา และการพูดคุยก็ควรมีขึ้นในแผ่นดินไทย เพื่อจะได้มีความชัดเจนว่าได้คุยกับผู้นำตัวจริงเสียงจริงของบีอาร์เอ็น
ทั้งนี้ เพื่อให้ชี้ชัดเสียทีว่า ต้องการอะไร แบบไหน ได้หรือไม่ได้ เพราะจะได้รู้ดำรู้แดงกันไป ถ้าไม่ได้ก็เลิกการพูดคุยเสีย เพื่อจะได้ไม่เป็นการเสียเวลาอีกต่อไป ถือเป็นการยุติการทำศึกแบบขี่ม้าเลียบค่ายกันเสียที เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
แนวทางที่สองถึงเวลาจับเข่าคุยกับอันวาร์ อิบราฮิบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหรือยัง เพื่อให้เลิกสนับสนุนบีอาร์เอ็น “ตั้งฐานที่มั่น” เหมือนที่ไทยเคยทำให้โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาไม่เป็นเสี้ยนหนามของมาเลเซียมาแล้ว เพราะนอกจากเป็นภัยต่อความมั่นคงของไทยแล้ว ยังถือเป็นองค์กรอาชญากรรมที่เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก
เรื่องนี้จึงต้องถามรัฐบาล กองทัพ สมช. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ทำไมถึงไม่ทำให้ 2 แนวทางนี้เกิดขึ้นและเป็นจริง มีความยากเย็นแสนเข็ญตรงไหน อย่างไร หรือกลัวว่าถ้าทำสำเร็จจะเป็นการปิดฉากไฟใต้ อันเป็นการทำให้ “การค้าสงคราม” ยุติลงตามไปด้วย