เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ที่มัสยิดดารุลนาอีม บ้านบาเละบาโร๊ะ ม.2 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมงานการกุศลมัสยิดดารุลนาอีม โดยมีว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ดร.ซาการียา สะอิ ส.ส.นราธิวาสเขต 4 ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
สำหรับมัสยิดดารุลนาอีมจัดงานในครั้งนี้เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมรับประทานอาหารและร่วมบริจาคในงานการกุศลเพื่อหารายได้ซ่อมแซมและต่อเติมมัสยิดให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวน 1,500,000 บาท โดยกิจกรรมภายในงานมีการจัดเลี้ยงอาหารแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน และท่านใดที่ไม่สามารถมาร่วมงานสามารถสมทบทุนบริจาคเงินผ่านบัญชี ธนสาครออมสิน เลขที่บัญชี 0204284862353
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานการกุศลที่ทางมัสยิดดารุลนาอีม และที่มาในวันนี้จะมาดูสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เช่น ปัญหาน้ำประปา ปัญหาไฟฟ้า ซึ่งเป็นในส่วนของมหาดไทยดูแลอยู่ จะได้นำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งไฟฟ้ากับน้ำประปาถือว่าเป็นปัญหาพื้นฐาน อย่างในปี พ.ศ.2569 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้บอกไว้ว่าประปาภูมิภาคต้องไปถึงทุกอำเภอ ปัจจุบัน 900 อำเภอ ประปาภูมิภาคไม่ถึง 100 และที่มีอยู่ก็ไม่เต็มอำเภอ เป็นเรื่องที่กำลังหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอำเภอมีประปา
ในส่วนของไฟฟ้า ในกรณีที่ไม่ใช่พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ไม่ได้อยู่ในเขตป่าไม้ ไม่ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์ ไม่มีปัญหาอะไร เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการให้จบทุกอำเภอ ในวันนี้มาดูสภาพของในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีหลายแห่งที่ยังไม่มีประปาและไฟฟ้า ซึ่งต้องมาดูกันอีกว่าติดปัญหาตรงไหนที่ยังไม่มีประปาและไฟฟ้าใช้ แต่ที่แล้วมาเวลาติดปัญหาเราไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งจะให้ ส.ส.ในพื้นที่ช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้
ในส่วนของค่าเดินทางไปประกอบพิธีฮัญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียราคาไม่หยุดนิ่ง จนปัจจุบันราคาอยู่ที่ 250,000 บาท เนื่องจากการไปเจรจาที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเขาลดให้เแต่แทบจะไม่มีผลอะไรเลย เราต้องเอาประเด็นนี้มาพูดคุยกันทำให้เกิดเอกภาพ ซึ่งต้องนำเรียนว่ารัฐบาลไทยที่ผ่านมาทุกรัฐบาล เป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้วที่รัฐบาลไทยให้เงินแก่ชาวไทยมุสลิมสนับสนุนเรื่องการไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งผมเองรู้สึกว่าไม่ถึงมือพี่น้องมุสลิม และไม่รู้ว่าไปตกหล่นอยู่ตรงไหน อีกอย่างราคามันขึ้นไปทุกปี และผมเองจะพยายามให้ราคาการไปประกอบพิธีฮัจญ์อยู่ที่ 220,000 บาท และอย่างน้อยให้อยู่ระดับนี้ 4-5 ปี แต่ถึงจะขยับไปต้องดูตามสภาพของเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งถือว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของผมในฐานะที่เป็นชาวไทยมุสลิมด้วย และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
จากนั้น นายชาดา ได้เดินทางไปพบปะแกนนำ ดร.ซาการียา สะอิ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 ที่บ้านกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัด นราธิวาส และร่วมรับประทานอาหารร่วมกันบรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นมื่น
นายชาดา ยังได้ไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตตัดเย็บเสื้อผ้า ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แฮนด์ อิน แฮนด์ รือเสาะตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายซูปียัน แดเมาะเล็ง นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัด แฮนด์ อิน แฮนด์ หรือ HAND-IN-HAND RUSO นับเป็นหนึ่งในต้นแบบอุตสาหกรรมที่ใช้ “หัว” และ “ใจ” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคู่ชุมชน โดยในปี 2554 ธุรกิจเริ่มต้นกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากการผลักดันของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ประสานงานดำเนินการจัดตั้งในรูปแบบโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปด้วยระบบอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ มีความสุขอย่างยั่งยืน รวมถึงแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีเศรษฐกิจชุมชน โดยชุมชนขึ้น
นายชาดา กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสมาเห็นห้างหุ้นส่วนจำกัด แฮนด์ อิน แฮนด์ รือเสาะ แล้ว รู้สึกภูมิใจกับพี่น้องในพื้นที่ที่มีโอกาสได้ทำงานใกล้บ้าน ซึ่งถือว่า HAND-IN-HAND RUSO เป็นการออกแบบเสื้อแบบไม่ธรรมดามีลวดลายที่สวยงาม โดยมีคนรุ่นใหม่ออกแบบพัฒนามีการประชาสัมพันธ์และเทคนิคในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งสามารถกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวรือเสาะ
จากนั้น นายชาดาได้เดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมกวนอาซูรอสัมพันธ์ต้อนรับศักราชใหม่อิสลาม 1446 ฮ อำเภอรือเสาะและพบปะมวลชน ณ สวนกาญจนาภิเษก เทศบาลตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
ภายในกิจกรรมมีการกวนอาซูรอ จำนวน 20 กระทะ ซึ่งแต่ละกระทะนั้นใช้เวลากวนไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง ทำให้เกิดการรวมตัวให้คนในชุมชน รวมพลังกาย พลังใจ และกำลังทรัพย์ แล้วมีการแบ่งปันกัน สร้างความสุข รอยยิ้ม เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ประเพณี “อาซูรอ” เป็นกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณี และเป็นการสัมพันธ์ความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนภายในชุมชนเพื่อบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ชาวบ้านนิยมกวนขนมอาซูรอ โดยจะนำอาหารดิบ เช่น ข้าวสาร เผือก มัน กล้วย ถั่ว ข้าวโพด เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกัน แล้วปอกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาผสมกัน เทศกาลอาซูรอจึงเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลามอย่างหนึ่งที่ชาวมุสลิมทั่วโลกต้องจัดขึ้น