xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของนากุ้งเตือนสูบน้ำเข้าบ่อต้องระวัง หลังพบปลาหมอคางดำหลุดเข้าประชิดบ่อกุ้งมูลค่านับล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครศรีธรรมราช - นากุ้งมูลค่าหลายล้านบาทถูกคางดำประชิดในบ่อพักน้ำ เจ้าของเตือนสูบน้ำจากลำคลองท่าพญาเพิ่มความระวังสูงสุด ยันทดลองปล่อยปลากะพงล่ากินคางดำวัยอ่อนยังไม่ได้ผล เหตุเกิดไวจนกินไม่ทัน

วันนี้ (22 ก.ค.) ที่นากุ้งเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ของ นายโกศล แป้นเกิด เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งติดกับลำคลองท่าพญา หมู่ 9 ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้ปล่อยกุ้งลงบ่อไปได้ 15 วัน จำนวน 1 ล้านตัว มูลค่าตัวละ 45 สตางค์ รวมมูลค่ากว่า 4.5 แสนบาท หากผ่านการเลี้ยงและได้ขนาดจะมีมูลค่าผลผลิตไม่น้อยกว่า 3-5 ล้านบาท บ่อนี้ต้องเพิ่มความระวังสูงสุด หลังพบว่าหลังจากสูบน้ำเข้าบ่อไปได้ 22 วัน บ่อพักน้ำที่เตรียมน้ำสำหรับถ่ายเทหมุนเวียนมีปลาหมอคางดำเต็มบ่อพักน้ำขนาดเนื้อที่ 2 งาน โดยมีปลาหมอคางดำขนาดใหญ่สุดมากกว่า 3-4 นิ้ว เจ้าของบ่อตั้งข้อสังเกตว่าการสูบน้ำเข้าบ่อได้ผ่านการกรองด้วยใยแก้วมีลักษณะคล้ายสำลี ไม่น่าจะมีสัตว์น้ำทุกชนิดหลุดเข้ามาในบ่อได้


นายโกศล เจ้าของบ่อกุ้งมั่นใจว่า การหลุดรอดเข้ามาได้นั้นเป็นไข่ปลาหมอคางดำที่ปะปนอยู่ในน้ำจากลำคลองท่าพญาที่ได้สูบเข้ามาพัก และเป็นสัญญาณอันตรายกับการสูบน้ำเข้าพักในระบบปิดของอุตสาหกรรมนากุ้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ไม่เฉพาะเป็นตัวเท่านั้นที่มีความเสี่ยง แต่หมายความว่าไข่ปลาหมอคางดำที่ปะปนอยู่ในน้ำมีปริมาณพอสมควร หากผิดพลาดนั่นหมายถึงการขาดทุนย่อยยับ ขนาดของปลาที่อยู่ในบ่อหลังผ่านไป 22 วัน มั่นใจว่ามาจากไข่ปลาที่อยู่ในน้ำมีการฟักตัวในบ่อ และโตเร็วมากจากอาหารที่อุดมสมบูรณ์ โดยเจ้าของบ่อได้นำปลากะพงขาวมาปล่อยเพื่อทดลองการควบคุม ขณะเดียวกัน ต้องป้องกันแนวบ่อกุ้งอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการหลุดรอดเข้าไปได้

นายโกศล แป้นเกิด เจ้าของบ่อกุ้งระบุว่า จากบ่อพักน้ำเนื้อที่ 2 งาน ได้ซื้อปลากะพงขาวขนาด 3-4 นิ้วในราคาตัวละ 20 บาท รวม 300 ตัว มาปล่อยจนถึงวันนี้ได้ 12 วัน ได้เฝ้าสังเกตทุกวันในการล่าของปลากะพง ปรากฏว่าลูกปลาคางดำที่เกิดขึ้นในบ่อพักน้ำไม่ได้ลดลงเลยแต่กลับเพิ่มขึ้น และพบด้วยว่ามีปลากะพงขาวถูกฝูงปลาหมอคางดำที่ใหญ่กว่าล้อมรุมกัดเจ็บไปหลายตัว ต้องคอยหลบซ่อนอยู่ในบ่อ หากนำไปหมุนเวียนบ่อกุ้งต้องใช้กากชาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว คือจากปกติ 5 กระสอบ ต้องเพิ่มเป็น 10 กระสอบนั่นคือต้นทุนการจัดการที่สูงขึ้นไปอีก








กำลังโหลดความคิดเห็น