”โคบาลชายแดนใต้” ที่เป็นโครงการส่งเสริมให้คนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีอาชีพในการเลี้ยงโคพันธุ์พื้นเมือง เพื่อใช้เป็นแม่พันธุ์ในการผสม ”เชื้อวากิว” เพื่อให้ลูกที่เกิดมามีราคาและตลาดต้องการ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นโครงการของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับผิดชอบโดยกรมปศุสัตว์ โดยมีธนาคารเกษตรและสหกรณ์เป็นแหล่งเงินทุนให้กู้ โดยให้ประชาชนจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา
โครงการนี้ในเฟส 1 มีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงของต้นปี 2567 เนื่องจากมีกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ 2 กลุ่มในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.สตูล ร้องเรียนว่า วัวที่ได้รับจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการไม่เป็นไปตามเงื่อนไข เช่น น้ำหนักและส่วนสูง ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน จนกลายเป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบ ทั้งจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากประชาชน และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดย ศอ.บต. เพื่อหาข้อเท็จจริง
และสุดท้ายเรื่องจบลงที่ไม่พบว่ามีการทุจริตในโครงการ ส่วนกลุ่มที่มีการร้องเรียนกับสื่อมวลชน ว่า ได้รับวัวที่ไม่ตรงปกที่เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี ทางบริษัทที่เป็นผู้ร่วมโครงการได้รับคืนเพื่อเป็นการยุติปัญหา สำหรับใน จ.สตูล ขณะนี้เรื่องยังไม่จบ แต่เป็นเรื่องระหว่างกลุ่มเลี้ยงวัวที่อยู่ในโครงการกับ ปศุสัตว์จังหวัด ที่ถูกชาวบ้านกล่าวหาว่า ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
สำหรับความคืบหน้าของโครงการโคบาลชายแดนใต้ ตัวแทนของบริษัทที่ขายแม่พันธุ์โคพื้นเมืองให้แก่เกษตกรที่เข้าร่วมโครงการเปิดเผยว่า โคแม่พันธุ์พื้นเมืองในเฟสที่ 1 นอกจาก 2 กลุ่มที่มีปัญหาแล้ว กลุ่มอื่นๆ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ใน จ.ปัตตานี เกษตกรผู้เลี้ยงได้ลูกวัวที่เกิดจากแม่พันธุ์แล้ว 100 กว่าตัว กลุ่มของ จ.นราธิวาส วัวตกลูกให้เจ้าของแล้ว 600 กว่าตัว ทุกคนพอใจกับผลรับที่เกิดขึ้น และ โครงการในเฟสที่ 2 จะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้
ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มผู้เลี้ยงโคบางกลุ่มได้ไปซื้อโคหรือวัวที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลง โดยไปซื้อโคอเมริกันบาร์มันห์ ซึ่งผู้ซื้ออาจจะพอใจที่เป็นโคตัวใหญ่กว่าโคพันธุ์พื้นเมือง แต่ปัญหาที่ตามมาคือไม่สามารถฉีดน้ำเชื้อวากิวเพื่อการผสมพันธุ์ให้เป็นวากิว และจะเป็นผลเสียที่จะตกไปอยู่กับผู้เลี้ยง เพราะลูกที่ออกมาจะไม่เป็นความต้องการของตลาด ไม่เหมือนกับโคพันธุ์พื้นที่ ที่ผสมเป็นวากิว และเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งบริษัทยังรับซื้อหากเกษตรกรต้องการให้แก่บริษัท
สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นต้องการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เลี้ยง ที่อาจจะไม่เข้าใจ และต้องการซื้อโคในราคาถูกและตัวใหญ่เพียงอย่างเดียว
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการโคบาลแดนใต้ ในเฟสที่ 2 นั้น ตัวแทนของบริษัทที่เป็นผู้จัดหาโคพันธุ์พื้นที่และการผสมพันธุ์ให้แก่เกษตกรที่เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยทุกฝ่ายต้องทำการตรวจสอบตั้งแต่เรื่องน้ำหนัก ส่วนสูงในวันส่งมอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาอย่างการร้องเรียนในเฟสแรก ที่ทุกคนยินดีที่ได้รับโคไปเลี้ยง แต่พอเลี้ยงได้ระยะหนึ่งมีปัญหาในเรื่องการเลี้ยงที่ไม่ได้เลี้ยงตามวิธีการ แล้วมีการร้องเรียนว่าโคที่ได้ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ทั้งในเรื่องน้ำหนักและส่วนสูง จนกลายเป็นเรื่องให้มีการตรวจสอบ ทำให้โครงการ “โคบาลแดนใต้” ต้องหยุดชะงักไปหลายเดือน เป็นการเสียโอกาส ทั้งเกษตกรและบริษัทที่เข้าร่วมโครงการที่ต้องแบกรับการขาดทุน
ที่สำคัญ โคที่มีการรับคือไม่ใช่โคของบริษัท เพราะไม่มีเครื่องหมายที่ทำตำหนิไว้ แต่บริษัทยินยอม เพราะต้องการยุติปัญหา และต้องการที่จะให้มีการขับเคลื่อนโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ต่อไป