xs
xsm
sm
md
lg

คาร์บอมบ์แฟลตตำรวจบันนังสตาชี้ชัด ความเชื่อมั่น “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ดิ่งเหวสุดติ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก

คาร์บอมบ์แรกของปี 2567 เกิดขึ้นที่แฟลตตำรวจ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ก่อนหน้าเมื่อปี 2566 ก็เคยเกิดคาร์บอมบ์ขึ้นที่แฟลตตำรวจในพื้นที่ จ.นราธิวาสในลักษณะเดียวกันมาแล้ว โดยทั้ง 2 เหตุการณ์มี “นายตำรวจ” เสียชีวิตและบาดเจ็บ

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับแต่ต้นปี 2567 น่าจับตายิ่ง มีทั้งลอบวางระเบิดและใช้อาวุธปืนโจมตีเจ้าหน้าที่ และ “สายข่าว” ที่เป็นประชาชนต่อเนื่องแบบถี่ยิบ หลายคนถึงกับบอกว่าไฟใต้กำลังจะถอยหลังกลับไปสู่ความรุนแรงเข้มข้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

กรณีคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจที่ อ.บันนังสตา วิเคราะห์ได้ว่ามาจากหลายสาเหตุ แต่ที่เป็นชนวนสำคัญให้ “แกนนำบีอาร์เอ็น” สั่งการกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ลงมือคือ การเสียชีวิตของ “รอนิง ดอเลาะ” ภาคประชาสังคมที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และการปิดล้อมจับกุม “นักกิจกรรม” ที่ถูกมองว่าเป็นปีกทางการเมืองของบีอาร์เอ็น

แน่นอนอีกสาเหตุเป็นผลพวงจากปฏิบัติการทางทหารของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” แต่ก็ถือเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น เพราะแม้ไม่มีเหตุการตายของนายรอนิง ดอเลาะ ไม่มีการไล่ปิดล้อมจับกุมนักกิจกรรม ก็เชื่อกันว่าเหตุรุนแรงจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

เนื่องเพราะปฏิบัติการก่อการร้ายต่อเนื่องมาในปี 2567 นี้ถือเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่บีอาร์เอ็นวางแผนกำหนดไว้ก่อนแล้วว่า ในปี 2567 จะต้องเป็นปีที่มีการใช้ความรุนแรงในพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

การเลือกลงมือที่แฟลตตำรวจเพราะเป็น “สัญลักษณ์” สำคัญของรัฐไทย โดยเฉพาะกับหน่วยงาน “บังคับใช้กฎหมาย” ที่มีผลกระทบต่อผู้คน จึงเชื่อว่าประชาชนจะไม่รู้สึกรู้สากับความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมีความเชื่อว่า ชีวิตถูกกำหนดมาแล้วจากพระเจ้า จึงเป็นความสูญเสียที่ยอมรับได้

อีกประเด็นหนึ่งบีอาร์เอ็นมุ่งทำคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ให้มุสลิมในชายแดนใต้อย่าได้เข้าใกล้ “สถานที่ราชการ” ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และอื่นๆ เพราะบริเวณนั้นถือเป็นสถานที่อันตรายที่อาจจะเกิดเหตุร้ายได้ทุกเวลา

นับเป็นวิธีแยบยลในการแบ่งแยกทั้ง “พื้นที่” และ “คน” ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่บีอาร์เอ็นถนัด และทำได้ผลมาตลอด

สถานที่ราชการถือว่าเปราะบางทางกายภาพ มีคนเข้าออกพลุกพล่าน การรักษาความปลอดภัยจึงหละหลวม และที่สำคัญหลังเกิดเหตุจะเข้มงวดกันไปสักระยะ จากนั้นก็ละเลยเฉยชาเหมือนเดิม ซึ่งทำให้เปิดช่องว่างให้บีอาร์เอ็นก่อเหตุได้เสรีเหมือนกับไม่มีมาตรการป้องกันแต่อย่างใด

ที่สำคัญหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ซึ่งอาจรวมหน่วยงานอื่นๆ ไม่เคยทั้งจดจำและถอดบทเรียนเพื่อป้องกันการก่อเหตุ รวมถึงไม่มีการวางมาตรการป้องกันการสูญเสียของประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับการก่อการร้ายของบีอาร์เอ็น

ตัวอย่างเช่น ปล่อยให้ใกล้สถานที่ราชการเป็นตลาดนัดให้คนมารวมตัวกันพลุกพล่าน เป็นการเปิดโอกาสให้แนวร่วมบีอาร์เอ็นเข้าไปปฏิบัติการได้สะดวก ถือเป็นการสร้างช่องโหว่ให้เกิดความสูญเสียให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เห็นประชาชนถูกลูกหลงจนบาดเจ็บและล้มตายกันมาแล้วมากมาย

ทุกวันนี้ยังมีจุดตรวจหรือจุดสกัดของทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองยังตั้งอยู่ในชุมชน ใกล้ตลาด ซึ่งหากมีการก่อวินาศกรรมหรือเกิดการปะทะกัน ประชาชนก็จะกลายเป็นเหยื่ออย่างยากหลีกพ้น ที่สำคัญ สถานที่ผู้คนพลุกพล่านยังเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ด้วย

ย้อนกลับมามองความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของรัฐบาล จะพบว่า อ.บังนังสตา จ.ยะลา ถือเป็นพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 อันเป็นปีที่ไฟใต้ระลอกใหม่ถูกจุดขึ้น ซึ่งผ่านมาแล้ว 20 ปี “หน่วยงานความมั่นคง” ไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำให้อำเภอนี้ลดความรุนแรงลงไปได้เลย

ทั้งที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รู้ดีว่า อ.บันนังสตาเป็น “พื้นที่สีแดงเข้ม” จึงยังให้คงกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 3 กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของ ตชด.จากภาคเหนือเอาไว้เสริมปฏิบัติการตำรวจ ทหาร และพลเรือนในพื้นที่ แต่สถานการณ์นอกจากไม่เคยดีขึ้นแล้ว กลับยังมีเหตุร้ายมากกว่าอำเภออื่นๆ ของ จ.ยะลาด้วย

อ.บันนังสตา นับเป็นพื้นที่คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาแล้วจำนวนมาก เช่น “จ่าเพียรขาเหล็ก” หรือ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสนตา รวมถึง “หมวดแคน” กับ “หมวดตี้” นายทหารและนายตำรวจยศพันเอก และถ้าจำไม่ผิด “รองผู้ว่าฯ” คนหนึ่งของ จ.ยะลา ก็เอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่ อ.บันนังสตา เป็นต้น

และพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งเคยถูกบีอาร์เอ็นลดชั้นจาก “หมู่บ้านเข้มแข็ง” ในวันนี้กลับถูกจัดตั้งให้หวนคืนตำแหน่งเดิมแล้ว สังเกตจากมีการปิดล้อม ตรวจค้น และถูกวิสามัญฯ ได้บ่อยๆ แถมยังมีการปิดถนนแย่งชิงศพคนร้ายไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่นำไปชันสูตร ที่สำคัญตอนทำพิธีศพก็มีมวลชนแห่เข้าร่วมมากมาย

อีกทั้งยังพบข้อมูลว่าคาร์บอมบ์ลูกแรกปี 2567 ที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น รถยนต์ราชการที่ใช้ก่อเหตุถูกโจรกรรมมาจาก อบต.ใน อ.ธารโต และมีบุคลากรของ อบต.หลายคนได้ตกเป็นผู้ต้องหาและมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งหลังเกิดเหตุไม่กี่วันยังมีการนำระเบิดไปวางที่ร้านค้าใกล้สี่แยกนาเกตุใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี แต่ยังโชคดีที่กู้ได้ทัน

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่ล้มเหลวในการสกัดบีอาร์เอ็นไม่ให้ขยายงานการเมือง จนทำให้หลายพื้นที่ที่สถานการณ์เคยดีขึ้นกลับคืนเป็นหมู่บ้านเข็มแข็งของฝ่ายบีอาร์เอ็น ตัวอย่างคือ อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต ซึ่งหวั่นว่าจะขยับไปถึงหัวเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่าง อ.เบตง จ.ยะลา

ทำไมบีอาร์เอ็นจึงกลับมาก่อวินาศกรรมในที่ที่มีประชาชนพลุกพล่าน อย่างทำคาร์บอมบ์ “แฟลตตำรวจ” ที่มี “ตลาดนัด” อยู่ใกล้ๆ หรือลอบวางระเบิดหน้าร้านค้าที่ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทั้งที่บีอาร์เอ็นเคยออกแถลงการณ์จะไม่ก่อเหตุในที่สาธารณะตามที่ได้ตกลงไว้กับ “เจนีวาคอลล์” องค์กรเอ็นจีโอสากล

นี่ถือเป็น “คำถาม” จากคนชายแดนใต้ที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงจาก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ในฐานะเจ้าภาพดับไฟใต้ ผ่านมาแล้ว 20 ปี ใช้เงินไปแล้วกว่า 400,000 ล้านบาท ทำไมทุกอย่างจึงล้มเหลว จนเวลานี้ไฟใต้ถูกมองว่ากลายเป็น “อุตสาหกรรมความมั่นคง” หรือ “การค้ากำไร” จากทุกหน่วยงาน

หรือจะเป็นอย่างที่ “คนไทยพุทธ” ในพื้นที่มักนินทากันในเสียงดังฟังชัดวงน้ำชาที่ว่า “ไฟใต้สงบ งบไม่มา”


กำลังโหลดความคิดเห็น