ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นายกฯ เข้าพื้นที่ดินสไลด์ บ้านหัวควน ต.กมลา จ.ภูเก็ต สั่งเร่งทำฟลัดเวย์ และตั้งศูนย์เตือนภัยแก้ปัญหาน้ำท่วม ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ระยะเร่งด่วน 8 จุด ในภูเก็ต พร้อมนำแผนที่พื้นที่เสี่ยงดินสไลด์หารือปลัด ก.ทรัพย์ฯ วางแนวทางป้องกันระยะยาว
วันนี้ (5 ก.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่บ้านหัวควน ต.กมลา จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจติดตามความเสียหายจากกรณีน้ำท่วม ดินสไลด์ และน้ำป่าไหลหลาก พร้อมหาแนวทางการแก้ปัญหาที่บ้านหัวควน หมู่ที่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต จากผลกระทบฝนตกหนักเมื่อคืนวันที่ 29 มิ.ย.ต่อเนื่องตลอดทั้งวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการภูเก็ต ได้บรรยายสรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และจากการสำรวจเบื้องต้นมีอย่างน้อย 18 จุด ในพื้นที่ 3 อำเภอ ขณะที่ นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้ระบุสาเหตุของดินทรายและหินที่ไหลลงมาจากภูเขาว่าเกิดจากภูเขาของภูเก็ตเป็นหินแกรนิต ที่มีอายุ 70-100 ปี เริ่มผุพัง เมื่อฝนตกหนักสะสมมากตั้งแต่ 170-200 ลูกบากศ์เมตร ทำให้หินไม่สามารถอุ้มน้ำและแตกกระจายเป็นหินและดินทรายไหลมาพร้อมกับน้ำ
ขณะที่ชาวบ้านได้เล่าถึงเหตุการณ์ดินสไลด์ พร้อมระบุว่า อยู่มา 60 ปี เพิ่งเคยมีดินสไลด์ลงมาในพื้นที่ และขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่มาดูปัญหาด้วยตนเอง
โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้แก้ปัญหาเร่งด่วนในเรื่องของการทำฟลัดเวย์ หรือ ทางระบายน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอแผนที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงดินสไลด์ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อไปหารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแนวทางป้องกันทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะจะต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้น เพราะช่วงนี้ฝนตกลงมาตลอดและยาวไปจนถึงเดือนกันยายน จึงต้องหาแนวทางป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
ส่วนระยะกลางและระยะยาวจะต้องมีการตั้งศูนย์เตือนภัย แต่ชาวบ้านบอกว่าน้ำมันมาเร็ว การเตือนภัยอาจจะช่วยได้บ้าง สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องมาดูแผนที่ทั้งหมดว่าจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินถล่ม ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ตรงนี้เพียงพื้นที่เดียว เพราะเท่าที่ดูจากแผนที่จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีมีอีกหลายจุด อย่างน้อย 7-8 จุด ที่เราต้องดูแลทั้งการทำฝาย ฟลัดเวย์ เขื่อน หรือขั้นบันไดเพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง ซึ่งตรงนี้เป็นแผนระยะกลางและระยะยาว
เมื่อถามว่า บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดดินสไลด์ จะมีแนวทางป้องกันหรือช่วยเหลืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า จะเป็นส่วนหนึ่ง และบอกว่าเป็นเขตที่มีความสุ่มเสี่ยงแผ่นดินถล่ม เรามีการแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีหนทางแก้ไขได้จะไม่กระทบกับชาวบ้าน
เมื่อถามว่า จะมีการนำแผนพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 54 จังหวัดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเร่งผลักดันให้เสร็จโดยเร็วหรือไม่นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องเร่งด่วน ตนเชื่อว่าข้าราชการทุกคนเข้าใจถึงความเร่งด่วนอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้รอบคอบและสามารถควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งตนเชื่อว่าทั้งปลัดและอธิบดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า พื้นที่ลุ่มต่ำมีบ้านเรือนของประชาชน และมีการปลูกสร้างขวางทางน้ำจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าต้องยึดตามกฎหมาย และแผนการก่อสร้างจะต้องเชื่อมต่อกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด แต่อย่างไรก็ตาม ในแผนการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาต้องดูทั้งหมด ทั้งเรื่องฟลัดเวย์ ขยายทางเดินน้ำใหม่ เพื่อให้น้ำสามารถระบายได้อย่างรวดเร็ว