ตรัง - ป.ป.ช.ตรังลงตรวจสอบเครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่อ่าวปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อติดตามการทำงานและเร่งรัดให้มีการรื้อถอน โดยเฉพาะโพงพางปากเสือและโป๊ะน้ำตื้น ชี้หากปล่อยไว้จะทำให้สัตว์น้ำทะเลสูญพันธุ์
วันนี้ (1 ก.ค.) นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ นายเอกมัย มาลา รักษาราชการแทนประมงจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) ลงพื้นที่อ่าวปะเหลียน ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ 2 จังหวัด คือ ตรัง-สตูล รอยต่อเกาะสุกร-บ้านหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กับ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เพื่อดูสภาพพื้นที่กรณีที่มีการทำประมงโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ประกอบด้วย โพงพางปากเสือ (โพงพางใต้น้ำ) ซึ่งมีการนำแกลลอนมาทำเป็นทุ่นลอยอยู่เหนือผิวน้ำเป็นกลุ่มๆ และมีเชือกผูกกับทุ่น โดยมีอวนตาถี่อยู่ใต้น้ำ และโป๊ะน้ำตื้น (ที่มีการไม้ปักไว้เป็นแนวยาวชิดติดกันเป็นโครงสร้าง เพื่อใช้สำหรับการผูกอวนตา) เนื่องจากเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดนี้ถือเป็นเครื่องมือชนิดล้างผลาญ เพราะสัตว์น้ำขนาดเล็กไม่สามารถรอดไปได้ หากปล่อยไว้หวั่นสัตว์น้ำทะเลจะสูญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้พยายามจะเข้ามารื้อถอนเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดแล้ว แต่ทำได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากโครงสร้างแข็งแรง ต้องใช้กำลังคนและเรือที่มีกำลังแรงม้าสูง จึงได้ถอนกำลังกลับ โดยเฉพาะในส่วนของโพงพางปากเสือ ทำได้เพียงการตัดทุ่นแกลลอนออกบางส่วน แต่ล่าสุดในวันนี้พบว่ามีการแอบมาผูกทุ่นใหม่กลับมาทำซ้ำ โดยไม่สนกฎหมายบ้านเมือง
นอกจากนั้น ในส่วนของโป๊ะน้ำตื้นพบว่าบางส่วนเจ้าของยอมปล่อยทิ้งร้าง เพื่อเปลี่ยนไปสร้างใหม่ที่อื่น เนื่องจากทำมานานจนไม้และอวนผุพังไปแล้ว แต่มักง่ายปล่อยซากทิ้งไว้ทั้งแนวไม้และอวน โดยไม่ยอมรื้อถอนออกไป ทำให้กีดขวางทางน้ำเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของเรือ และการจับสัตว์น้ำของชาวประมงที่ใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมาย
นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง บอกว่า จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่อ่าวปะเหลียน พบว่า มีการทำประมงผิดกฎหมายจริง และบางส่วนมีการเลิกไปบ้างแล้ว ภาพรวมมีไม่ต่ำกว่า 100 ราย พร้อมได้กำชับประมงจังหวัดว่าจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย และจะต้องหาแนวทางที่เหมาะสมด้านอื่นควบคู่ด้วย เช่น การสร้างความเข้าใจ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับมวลชน
ส่วนปัญหาของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรงที่ทำงานยาก หรือขาดความร่วมมือจากหน่วยงานราชการอื่นที่มีความพร้อมนั้น เนื่องจากกรณีนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะไปสั่งการใคร หรือหน่วยงานใดได้ แต่ได้แนะนำให้ทางประมงไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจังหวัดตรัง เพื่อประสานการดำเนินการในลักษณะบูรณาการ ไม่งั้นจะประสบผลสำเร็จยาก
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลการทำประมงผิดกฎหมายในอ่าวปะเหลียนนี้ ไม่ปรากฏว่ามีเครือข่ายนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ใดเกี่ยวข้อง ส่วนตัวจึงคิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้ไม่ยาก พร้อมกันนี้ ได้กำชับประมงไปว่าจะให้มีการทำประมงผิดกฎหมายขยายพื้นที่ไปอีกไม่ได้ รวมทั้งต้องใช้วิธีการจำกัด หรือลดลงให้มากที่สุด และพยายามที่จะทำให้ถูกกฎหมายทั้งหมด
นอกจากนั้น ในพื้นที่อื่นๆ ก็เช่นกัน เช่น อำเภอหาดสำราญ อำเภอกันตัง หากพบมีการทำประมงผิดกฎหมาย ทาง ป.ป.ช.ตรัง จะต้องเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการทุกที่ เพื่อมิให้มีการทำประมงผิดกฎหมายเกิดขึ้น ส่วนระยะยาวต้องสร้างความเข้าใจ และความมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ โดยทาง ปปช. ในส่วนของงานป้องกันมีโครงการที่จะประสานไปยังพื้นที่ เพื่อจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจกับเด็กๆ ให้รู้ว่า การทำสิ่งผิดกฎหมายนั้นจะกระทบต่อสังคม หรืออนาคตอย่างไร เพื่อให้เยาวชนเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากร