xs
xsm
sm
md
lg

นาทีชีวิต! เจ้าหน้าที่ช่วยลูกฉลามครีบดำ ฝาพลาสติกรัดบริเวณครีบบน และครีบว่าย ปิดช่องเหงือก เกรงอันเป็นเหตุให้สูญเสียได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระบี่ - นาทีชีวิต! เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือลูกฉลามครีบดำ ติดแหวนรองฝาถังน้ำรอดหวุดหวิด ที่อ่าวมาหยา หลังทีมสำรวจวิจัยฉลามครีบดำ พบพลาสติกคล้ายแหวนรองฝาพลาสติกรัดบริเวณครีบบน และครีบว่าย ปิดทับช่องเหงือก เกรงทำให้ตายได้


เจ้าหน้าที่ทีมสำรวจวิจัยฉลามครีบดำ ที่อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ตามโครงการ Maya Bay Sharks Watch Project ได้ตรวจดูการบันทึกภาพ VDO ใต้น้ำ พบลูกฉลามครีบดำ มีพลาสติกที่คาดว่าจะเป็นแหวนรองฝาพลาสติกจากแกลลอนถังน้ำมัน หรือไม่ก็เป็นถังน้ำขนาดใหญ่ รัดอยู่บริเวณครีบบน และครีบว่าย ปิดทับช่องเหงือก ช่องสุดท้ายเป็นพลาสติก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 เซนติเมตร มีความแข็งและหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร เกรงว่าจะทำให้ลูกฉลามที่ถูกรัดตายได้


เจ้าหน้าที่จึงวางแผนจับฉลามตัวดังกล่าวเพื่อให้การช่วยเหลือ โดยการทอดแหในการจับ พบเป็นฉลามครีบดำเพศผู้ ลำตัวยาว 50 เซนติเมตร วัดจากหัวถึงปลายหาง น้ำหนักไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม โดยการตัดห่วงพลาสติกที่รัดบริเวณครีบออก ซึ่งหลังจากตัดพบว่าสามารถว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว แต่ทิ้งร่องรอยบาดแผลการถูกรัดไว้

โดยทางทีมที่ช่วยเหลือ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทางทะเล อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง ได้นำคลิปวิดีโอการช่วยเหลือดังกล่าวมาลงในเพจ ซึ่งมีผู้คนเข้าไปชื่นชมการช่วยเหลือในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นเพียงลูกฉลามตัวหนึ่งก็ตาม โดยได้ระบุว่า เราหวังว่าจะเจอมันและระบุตัวมันได้จากรอยแผลนี้ และอยากให้ทุกคนช่วยกันตั้งชื่อให้ลูกฉลามตัวนี้


สำหรับฉลามครีบดำโตเต็มวัยเพียง 1 ตัว สามารถสร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศแนวปะการังได้เป็นบริเวณหลายไร่ มันคอยปกป้องแนวปะการัง 24 ชม.ตลอดชีวิตของมัน นี่คือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ การเสียเวลา ช่วยลูกฉลาม 1 ตัว ให้มีชีวิตรอดถือว่าคุ้มค่ามากกับสิ่งที่จะได้รับกลับมา

ปล.ทางทีมเราไม่ลืมที่จะจัดการกับต้นตอ ของปัญหานั่นคือขยะทะเลที่เริ่มก่อตัวเป็นแพใหญ่ และแน่นอนมีห่วงพลาสติกหลายสิบห่วงอยู่ในแพขยะนั้น ทางทีมสามารถเก็บกู้ขยะทะเลในอ่าวมาหยาไปได้กว่า 70% เราเลือก เก็บสิ่งที่ดูเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลมากที่สุดก่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น