xs
xsm
sm
md
lg

ชาวชุมชนบ้านในลุ่มยอดนักสู้! ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินต่อสู้นายทุนออกโฉนดทับป่าชายเลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครศรีธรรมราช - ชาวชุมชนบ้านในลุ่ม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช รวมตัวฮึดสู้หลังโฉนดโผล่ทับป่าชายเลนแหล่งอาศัยทำมาหากิน ฟ้องศาลปกครองจนชนะโฉนดถูกเพิก แต่ยังต้องลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ด้าน กอ.รมน.ยกเป็นชุมชนตัวอย่างปลูกฝังเยาวชนรักษาพื้นที่สาธารณะ

วันนี้ (11 มิ.ย.) ป้าย “เราจะสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินของรัฐ” ของชาวบ้านในลุ่ม หมู่ 3 ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เป็นเครื่องการต่อสู้ของชุมชนมาเกือบ 10 ปีแล้ว หลังจากชุมชนแห่งนี้ปรากฏเจ้าของพื้นที่โดยการอ้างกรรมสิทธิ์การออกเอกสาร น.ส.4 จ.หรือโฉนด ที่ชาวบ้านยืนยันว่าเป็นป่าชายเลนที่ชาวบ้านได้อาศัยและทำประมงมาเกือบ 100 ปี เป็นที่สาธารณะมีน้ำทะเลท่วมถึง แต่กลับมีการออกเอกสารสิทธิมาได้อย่างเหลือเชื่อ

กระทั่งชาวบ้านได้ตัดสินใจรวมตัวขอความช่วยเหลือจากร้อยฝึกรบพิเศษที่ 4 สิชล เข้าร่วมตรวจสอบและนำไปสู่การร้องต่อสำนักนายกรัฐมนตรี จนมีการตรวจสอบ ชาวบ้านจำนวน 66 ราย เป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีคือ อธิบดีกรมที่ดิน เจ้าหน้าที่ที่ดินและผู้เกี่ยวข้องรวม 10 ราย จนกระทั่งศาลปกครองชั้นต้นให้ฝ่ายชาวบ้านชนะคดี สั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 เพื่อเพิกถอนการออกโฉนดทับที่ชายตลิ่งใน 180 วันหลังคดีสิ้นสุด

แต่ปัจจุบันคดีนี้ผู้ถูกฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา การต่อสู้ของชาวบ้านยังคงยืนยันผ่านการปลูกฝังเยาวชนในท้องถิ่นเข้าร่วมรักษาป่าชายเลน โดยการร่วมกันปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังหวาดกลัวจากพฤติการณ์ข่มขู่ของบุคคลบางฝ่าย ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ยังเฝ้าติดตามดูแลชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ผ่านการร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง


นายไพศาล คงกัด แกนนำผู้ฟ้องคดีได้ถ่ายทอดการต่อสู้ฟ้องคดีว่ามีหลักฐานเพียงชิ้นเดียวคือภาพถ่ายทางอากาศกรมแผนที่ทหาร ที่ยืนยันชัดว่าพื้นที่นี้เป็นป่าชายเลน ไม่เคยมีการทำประโยชน์ ส่วนที่มีความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากกรมเจ้าท่าได้ขุดลอกดูดทรายปากน้ำ แล้วนำทรายขึ้นมาทิ้งทำให้มีความสูงเพิ่มขึ้น สภาพพื้นที่ดีขึ้น จึงเป็นโอกาสให้นายทุนบางคนเข้ามาฉกฉวยหาช่องทางออกโฉนด

ขณะที่ นายชวน นวลเส้ง รองประธานชุมชนระบุว่า การตัดสินจากศาลปกครองนั้นส่งผลให้ชาวบ้านมีความสุขมากขึ้น ชาวบ้านมีที่ทำประมง มีที่อาศัย แม้จะเป็นที่สาธารณะแต่เราไม่ได้ต้องการครอบครอง อาศัยทำประมงเล็กน้อย เมื่อถูกนายทุนเข้ามาทำเช่นนี้ชาวบ้านต่างลำบาก มีความหวังกับศาลปกครองสูงสุด กว่า 385 ชีวิตมีความหวัง

ขณะที่ พันเอกวิชาญ สาริกะพันธ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ขณะนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ปรากฏไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นทางราชการหลายหน่วยงานในทุกพื้นที่จะต้องเอาเป็นตัวอย่างในการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งส่งผลต่อไปยังเศรษฐกิจและความมั่นคงโดยรวม

ต่อข้อถามการคุกคามของบางฝ่ายมายังชาวบ้านในพื้นที่ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในนครศรีธรรมราช ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องยังคงจับตามองและยังดูแลชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น