xs
xsm
sm
md
lg

ศรชล.ภาค 3 ฝึกความพร้อมรับสถานการณ์ WMD และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน-นักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศรชล.ภาค 3 ฝึกความพร้อมรับสถานการณ์การลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ทางทะเล และฝึกทดสอบความพร้อมในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว


วันนี้ (10 มิ.ย.) พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) เป็นประธานในการตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) การปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2567 พร้อมด้วย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. และผู้แทนหน่วยงานของ ศรชล. ที่จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกทั้ง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน


นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) ซึ่งเป็นหน่วยหลักในการรับผิดชอบจัดการฝึก ได้เชิญหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทะเลภายใน จ.ภูเก็ต เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ด่านศุลกากรภูเก็ต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต และมูลนิธิภูเก็ตร่วมใจกู้ภัย เข้าร่วมทำการฝึกและชมการฝึก ณ พื้นที่ ศรชล.ภาค 3 บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง จว.ภูเก็ต โดยมี พล.ร.ท.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะ ผอ.ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะ ผอ.ศรชล.จว.ภูเก็ต ให้การต้อนรับ และร่วมชมการฝึก


โดยมีหัวข้อในการฝึก ประกอบด้วย การฝึกป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction: WMD) ทางทะเล ซึ่งเป็นการฝึกเพื่อทดสอบแผนเผชิญเหตุกรณีดังกล่าว โดย ศรชล. เป็นหน่วยประสานงานและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับภาครัฐ หน่วยงานสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันเคมี ชีวะ กัมมันตรังสี และนิวเคลียร์ (Chemical Biological Radiological and Nuclear Defense: CBRN) และสินค้าใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) โดยการฝึกเป็นมาตรการสร้างความปลอดภัยเชิงป้องกันในพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมเขตทางทะเล ตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 และการใช้อำนาจการตรวจสอบสินค้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560


ต่อมาเป็นการฝึกทดสอบความพร้อมในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล เป็นการฝึกปฏิบัติงานของ ศรชล.ภาค 3 ในการบูรณาการกำลังพล กำลังทางเรือและอากาศยานจากหน่วยงานหลักของ ศรชล.ทั้ง 7 หน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ และจิตอาสาในการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในทะเล จากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในทะเลจนกลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งการส่งกลับสายแพทย์ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินและโรงพยาบาลเครือข่าย


ซึ่งผลของการฝึกดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาล ประชาชน และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรือท่องเที่ยวและเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เข้ามาท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ว่า ศรชล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากกิจกรรมทางทะเลที่เป็นมาตรฐานสากล และสามารถเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดการสูญเสียทรัพย์สินได้อย่างเป็นรูปธรรม


การจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2567 จากหน่วยต่างๆ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงปันหยี เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (เรือ ต.111) เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (เรือ ต.272) เครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 (DO 228) เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบที่ 4 (S-76 B) ของกองทัพเรือ เรือศุลกากร 364 เรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 805 เรือตำรวจน้ำ 706 เรือยางท้องแข็ง ของ ศรชล.ภาค 3 ที่ได้รับมอบจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก รถพยาบาลและกู้ชีพพร้อมเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต และมูลนิธิภูเก็ตร่วมใจกู้ภัย


หลังเสร็จสิ้นการฝึก พล ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) ได้กล่าวขอบคุณกำลังพลทุกท่าน สำหรับความตั้งใจในการฝึกในครั้งนี้ ซึ่ง ศรชล. ได้แสดงให้ประชาชนได้เห็นถึงความพร้อมในป้องกันภัยทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการประสานงาน อำนวยการร่วมกันของหน่วยงานหลักของ ศรชล. และหน่วยงานงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้ยั่งยืน พร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป


นอกจากการฝึกข้างต้นแล้ว ศรชล.ภาค 3 ยังจัดให้มีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักปฏิบัติการที่ 4 ศรชล. (กรมศุลกากร) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ศูนย์ปฏิบัติการ ศรชล.ภาค 3 และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่สำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น