xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านสะเตงนอก จ.ยะลา รวมตัวร้องขอความเป็นธรรมการเยียวยาจากเหตุน้ำท่วมช่วง ธ.ค.66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยะลา - ชาวบ้าน ต.สะเตงนอก จ.ยะลา จำนวนกว่า 40 ราย เข้าร้องขอความเป็นธรรมในการเยียวยาจากเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อช่วง ธ.ค.66 ขณะที่นายกฯ สะเตงนอกชี้แจงทางเทศบาลทำหน้าที่รวมข้อมูลผู้ประสบภัยเท่านั้น การพิจารณาขึ้นอยู่กับกรรมการของจังหวัด

วันนี้ (4 มิ.ย.) ณ ห้องประชุม สำนักงานเทศบาลเมืองสะเตงนอก ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ชาวบ้านจากพื้นที่หมู่ 9 ต.สะเตงนอก จ.ยะลา กว่า 40 ราย ได้รวมตัวเข้ายื่นหนังสือและรายชื่อร้องเรียนหลังจากไม่ได้รับการเยียวยาจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อช่วงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาจากหนังสือร้องเรียนเปิดเผยว่า

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองยะลา มีการจ่ายเงินให้แก่ราษฎรที่ถูกน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองสะเตงนอก โดยการแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ถึงผู้ได้รับเพียงบางรายที่ได้แจ้งชื่อกับทางเทศบาล โดยประชาชนส่วนมากไม่ทราบ ทำให้รู้สึกไม่โปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับประสบภัย ประชาชนที่เจ้าหน้าที่รู้จักเท่านั้นที่ได้รับเงินในครั้งนี้ จึงขอทราบขั้นตอนการดำเนินครั้งนี้


พร้อมได้ตั้งข้อสังเกต 9 ข้อ ดังนี้ 1.การจ่ายเงินให้ประชาชนที่ได้รับการพิจารณาจากใคร มีหลักเกณฑ์หรือไม่ 2.เทศบาลได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาหรือไม่ 3.เทศบาลได้แจ้งให้ผู้ที่ยื่นคำขอทราบทุกรายหรือไม่ 4.งบประมาณที่ได้รับจัดสรรครั้งนี้จำนวนเท่าไร รับจากส่วนใด 5.ได้นำผลเสียหายของราษฎรที่ยื่นเรื่องราวขอรับเงินหรือแจ้งผลน้ำท่วมบ้านเรือนของแต่ละรายมาเปรียบหรือไม่

6.ทางเทศบาลหรือผู้ใหญ่บ้านที่รับผิดชอบแต่ละหมู่บ้านและสมาชิกสภาเทศบาลได้ออกสำรวจข้อเท็จจริงหรือนั่งเทียบดูที่เทศบาลจากคนที่เจ้าหน้าที่รู้จักและพรรคพวก 7.น้ำท่วมครั้งนี้ร้ายแรงมาก ท่วมทั่วไปในระดับสูง เดือดร้อนทั่วตำบล เทศบาลได้แจ้งให้ส่วนกลางหรือไม่ ควรได้แจ้งเป็นเขตอุทกภัย เช่นจังหวัดอื่นๆ เขาทำกันหรือไม่ 8.งบประมาณที่จ่ายไปครั้งนี้ได้รับจำนวนกี่ครัวเรือน เงินจำนวนเท่าไร และ 9.การสื่อสารแจ้งราษฎรมีหลายทาง รถโมบายของเทศบาลมี เสียงวิทยุก็มี เพราะการแจ้งทางโทศัพท์เป็นรายบุคคล ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะผู้ได้รับอุทกภัยที่ยื่นเรื่องส่วนมากไม่ทราบ

ฉะนั้น ตัวแทนของราษฎรเทศบาลสะเตงนอกที่ประสบอุทกภัยครั้งนี้ขอให้ทางเทศบาลเมืองสะเตงนอกตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการจ่ายเงิน และเหตุผลประกอบการพิจารณา และให้นำข้อมูลมาทบทวนพิจารณาใหม่


นายสมศักดิ์ ชดสร้อย ตัวแทนชาวบ้านหมู่ 9 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เผยว่า ตนมีความเดือดร้อนในเรื่องของการจ่ายเงินของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา เพราะจากการที่ทางหน่วยงานราชการที่ได้จ่ายเงินน้ำท่วม ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม คนที่ท่วมน้อยได้เงิน ส่วนน้ำท่วมเยอะไม่ได้ ชาวบ้านมีความเดือดร้อนเลยต้องการมาพบนายกเทศมนตรีเมืองสะเตงนอก เพื่อสอบถามว่าเรื่องทั้งหมดเป็นยังไง ในเมื่อมาประชุมแล้วได้คำตอบว่าจะประสานทางจังหวัดให้อีกที กลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนมีความพอใจในระดับหนึ่ง จะเอาเรื่องนี้เข้าไปพูดต่อที่อำเภอเมืองอีกครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

น้ำท่วมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่สะเตงนอกท่วมหนักมาก ทางทีมกู้ภัยไม่สามารถจะเข้าได้ต้องใช้เรือท้องแบนเท่านั้น วันแรกชาวบ้านต้องอดกันหมด น้ำท่วมไม่ได้ท่วมทุกปีแต่ปีที่แล้วหนักจริงๆ บ้านที่ไม่เคยท่วมก็ท่วม ตั้งแต่ที่มาคูระบายน้ำของจังหวัด เพราะน้ำไหลไม่ทันทำให้น้ำท่วมสูงมาก ให้ทางเทศบาลเมืองสะเตงนอก ดำเนินการประสานกับทางจังหวัดอีกทีในเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนว่าเอาความเป็นจริงมาพูดว่าเดือดร้อนจริงๆ


ขณะที่ นายเสรี เรืองกาญจน์ นายกเทศมนตรีเมืองสะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เผยว่า ในวันนี้มีพี่น้องชาวสะเตงนอก มาร้องเรียนและขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการชดเชยเงินน้ำท่วมที่ไม่ได้รับบางส่วน ซึ่งหลังจากน้ำท่วมในช่วงเวลาดังกล่าว เทศบาลเมืองสะเตงนอกได้ตั้งศูนย์เพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบให้มาลงทะเบียนเพื่อรับการพิจารณาเยียวยา ซึ่งตลอดระยะเวลาเปิดรับข้อมูล 1 เดือน มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมลงทะเบียน 3,000 กว่าราย หลังจากนั้นได้ส่งเอกสารทั้งหมดไปที่อำเภอเมืองเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา ในบางรายมีการตีกลับมาให้เอาเอกสารเพิ่มเติม หรือบางส่วนไม่เข้าหลักเกณฑ์

ทั้งนี้ขอชี้แจงว่า ทางเทศบาลเมืองสะเตงนอกมีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูลของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่และส่งต่อข้อมูลให้กรรมการเท่านั้น ในส่วนการพิจารณาว่าใครจะได้หรือไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของกรรมการพิจารณาที่ทางจังหวัดกำหนด โดยจะต้องผ่าน 5 หลักเกณฑ์ที่สามารถเยียวยาได้ ซึ่งในวันนี้ได้อธิบายกับพี่น้องประชาชนในสะเตงนอกให้เข้าใจว่าหลักเกณฑ์อย่างไร สุดท้ายมีข้อสรุปว่าจะมีการพูดคุยกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา โดยจะมีตัวแทนชาวบ้าน 3 คนไปพูดคุยด้วยเพื่อหาทางออกให้ชาวบ้าน หลังจากนั้นจะชี้แจงให้พี่น้องในพื้นที่สะเตงนอกได้รับทราบต่อไป

ทั้งนี้ ที่เกิดปัญหาคือรูปถ่ายในสภาพความเป็นจริงตอนน้ำมา ตนมั่นใจว่าทุกคนที่ได้รับผลกระทบ น้ำมาเร็วมากทำให้ไม่มีเวลาที่จะจับมือถือมาถ่ายรูป ทำให้บางหลังจมมิดหลังคาไม่สามารถที่จะเก็บรูปถ่ายเครื่องมือประกอบอาชีพ พอน้ำลดจึงทำให้ไม่มีหลักฐานที่จะบ่งบอกว่ามีความเสียหาย ซึ่งในครั้งนี้กรรมการพิจารณาจากภาพถ่ายเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะให้ทางจังหวัดหรือทางอำเภอเป็นข้อมูลในการตั้งเงื่อนไขการพิจารณาในครั้งต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น