xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านปากคลองกลาง จ.ตรัง รวมกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองลดต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ชาวบ้านปากคลองกลาง ม.5 ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง รวมตัวตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ ทั้งเพื่อใช้เอง และนำที่เหลือไปขายคนภายนอก ปรากฏว่าหมดเกลี้ยงทุกรอบผลิต เพราะใส่ต้นไม้แล้วได้ผลดี

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ บ้านปากคลองกลาง หมู่ที่ 5 ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ถือเป็นตัวอย่างชุมชนเข้มแข็ง ที่ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านรวมกลุ่มกันร่วมกันคิดร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการที่ก่อนหน้านี้ยางพาราของชาวบ้านประสบปัญหาเชื้อราระบาดหนักจนต้นตาย และเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอย่านตาขาว ได้เข้าไปช่วยเหลือให้ความรู้ โดยการแนะนำให้ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าใช้ในชุมชน หรือครัวเรือนที่มีปัญหา โดยขณะนั้นรวมกลุ่มกันได้ประมาณ 10 คนเท่านั้น


กระทั่งต่อมาเมื่อชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ทราบว่า เชื้อไตรโคเดอร์ม่าดังกล่าวสามารถนำไปผสมทำเป็นปุ๋ยได้ จึงมีชาวบ้านเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น และมีความคิดอยากต่อยอดกิจกรรมเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เนื่องจากปัจจุบันปุ๋ยถือเป็นต้นทุนหลักในการทำเกษตร ดังนั้น สมาชิกจึงร่วมลงขันกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ครั้งละ 10-12 ตัน หรือประมาณ 400-500 กระสอบ โดยบรรจุกระสอบละ 25 กก. ราคาขายให้สมาชิกด้วยกันกระสอบละ 180 บาท แต่ขายให้บุคคลภายนอกจะอยู่ที่กระสอบละ 200 บาท ปรากฏว่ามียอดขายหมดทุกรอบ จึงเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต

สำหรับวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านปากคลองกลาง จะเริ่มจากการนำส่วนผสมทั้งหมดมาหมักในโรงเรือน แบ่งเป็นชั้นๆ รวมทั้งหมด 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นล่างสุด หรือชั้นที่ 1 ปูด้วยมูลไก่ ชั้นที่ 2 เป็นมูลวัว ชั้นที่ 3 เป็นขี้เถ้าจากไม้ยางพารา ที่ได้จากโรงยางแผ่นรมควันที่เจ้าของยกให้ฟรี ชั้นที่ 4 โรยด้วยโดโลไมท์ และชั้นที่ 5 หรือชั้นบนสุด ราดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ที่ได้จากการนำเศษปลามาหมัก จากนั้นหมักทิ้งไว้จนครบ 1 เดือน แล้วนำมาพลิกกลับด้าน ก่อนหมักทิ้งไว้ต่อไปอีก 10 วัน ก็สามารถนำมาบรรจุกระสอบขายได้


นายปรีชา นิคะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 บ้านปากคลองกลาง บอกว่า ตนเองสนับสนุนให้ใช้พื้นที่สร้างโรงเรือนและเป็นที่ทำการกลุ่ม เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในหมู่บ้าน ช่วยชาวบ้านลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยที่ราคายังแพงมากมาใช้ในพื้นที่เกษตร ส่วนสมาชิกใครถนัดงานด้านไหนก็ช่วยด้านนั้น ซึ่งการรวมกลุ่มกันแบบนี้ยังสร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านด้วย ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ปรากฏว่าปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มมีคุณภาพ ทำให้ดินมีไส้เดือน และพืชผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันที่มีผลดกเต็มต้น ไม่ขาดคอ

ส่วน นายสุรเชษฐ์ เส็นฤทธิ์ ประธานกลุ่มบอกว่า ขณะนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 48 คนแล้ว ซึ่งเกิดจากการลงขันกันครัวเรือนละไม่เกิน 10 หุ้นๆ ละ 100 บาท รวมขณะนี้มีทั้งหมด 260 หุ้น เป็นเงินแค่ 26,000 บาท แต่สามารถนำมาเป็นทุนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง โดยอาศัยที่ของผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกช่วยกันลงแรงสร้างโรงเรือน โรงเก็บปุ๋ย ทำให้ประหยัดเงินของกลุ่มได้หลายแสนบาท จนขณะนี้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้รอบละ 400-500 กระสอบ และมีคนจองหมดทุกรอบ เพราะใช้แล้วได้ผล อนาคตจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้






กำลังโหลดความคิดเห็น