นราธิวาส - ชาวบ้านกว่า 400 คนจาก 6 หมู่บ้านใน อ.ระแงะ รวมตัวกันเรียกร้องหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย บางคนไม่ได้รับเงินเยียวยา หญิงพิการบ้านน้ำท่วมได้แค่ร้อยบาท
วันนี้ (17 พ.ค.) ที่วัดชัยรัตนาราม หรือวัดบ้านไทย ม.3 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน 2 ตำบล คือ บ้านร่อน ม.2 บ้านไทย ม.3 บ้านแกแม ม.4 บ้านแกแม ม.9 บ้านบูเก๊ะบูแย ม.11 ต.ตันหยงมัส และบ้านลาไม ม.6 ต.บองอ จำนวนกว่า 400 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 ธ.ค.2566 ได้มารวมตัวเรียกร้องหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย โดยมีชาวบ้านที่รวมตัวกันในครั้งนี้ไม่ได้รับการเยียวยาถึงร้อยละ 80 ด้วยเหตุผลไม่มีหลักฐานภาพถ่ายความเสียหายแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบางส่วนจากปัญหาภาพถ่ายที่ส่งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้มีชาวบ้านได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 77,000 บาท และได้รับต่ำสุด 100 บาท คือ นางธัญาภรณ์ ยอดแก้ว 51 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการ
ตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ติดกับบ้านเช่าของนางธัญาภรณ์ (หญิงพิการ) ได้พูดในระหว่างการรวมตัวของชาวบ้านว่า แกเช่าบ้านอยู่แถมเป็นผู้พิการด้วย แต่เอาอะไรมาวัดว่าได้แค่ 100 เดียว ความเสียหายแกไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มและทรัพย์สินอีกจำนวนหนึ่ง และในระหว่างที่ตัวแทนชาวบ้านพูดแทนนางธัญยาภรณ์ แกจะพยายามอธิบายด้วยการใช้มือและมีสีหน้าดวงตาที่เศร้าสร้อยแทบจะร้องไห้ออกมา
ความเห็นโดยรวมของชาวบ้านไทยต้องการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เป็นคณะกรรมการการพิจารณาตอบแทนเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ ให้ลงมาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยตาตนเอง แทนการพิจารณาด้วยภาพและบันทึกข้อความของผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการสำรวจความเสียหาย มิเช่นนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่จบและบานปลาย และคาดว่าหากมีการพิจารณาในลักษณะนี้ ชาวบ้านทั้งจังหวัดคงจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน หรือจะยอมให้ชาวบ้านตราหน้าว่าโกงกินแม้กระทั่งชาวบ้านตาดำๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นนี้
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ได้มี น.ส.แอเสาะ เจ๊ะโอะ 45 ปี ซึ่งเป็น 1 ในชาวบ้านไทยที่ไม่ได้เงินเยียวยาจากอุทกภัยในครั้งนี้ ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูบ้านพักซึ่งปลูกสร้างอยู่ติดกับคลองห้วยจูซิง บ้านแกแม ม.3 ที่บ้านพักต่ำกว่าถนนสายหลัก 1.5 เมตร และเป็นทางน้ำไหลผ่าน มีสภาพบ้านถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากพัดฝาผนังถล่มไปเกือบทั้งหลัง และมีเศษซากอิฐบล็อกตกเกลื่อนไว้ดูต่างหน้า เมื่อ น.ส.แอเสาะ ไม่ได้รับเงินเยียวยา จึงได้หาแผ่นสังกะสีเก่าๆ ของเพื่อนบ้าน รวมทั้งแผ่นป้ายโฆษณาต่างๆ มาปิดทับไว้ เพื่อที่จะอาศัยอยู่ได้
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวน 20 ครัวเรือน มีชาวบ้านไม่ได้รับเงินเยียวยาอาศัยอยู่จุดนี้ จำนวน 3 ครัวเรือน ที่รอความหวังจากเงินเยียวยาเพื่อนำมาซ่อมแซมบ้าน
น.ส.แอเสาะ เจ๊ะโอะ เปิดเผยว่า รู้สึกน้อยใจมากเพราะสภาพบ้านคือพังเสียหายแทบทั้งหลังแต่ไม่ได้รับเงินเยียวยาเลยสักบาท บวกกับดิฉันมีฐานะยากจนและลำบากด้วย ตอนเกิดเหตุน้ำท่วมข้าวของเครื่องใช้รวมถึงเสื้อผ้าที่บ้านหายไปกับน้ำหมดเลย เสื้อผ้าแม้แต่ชิ้นเดียวไม่มีจะใส่ ตอนที่ไปลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตำบล หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบที่บ้านแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่มีชื่อซึ่งเจ้าหน้าที่เอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัดตรงนี้
“ในวันที่เกิดน้ำท่วมต้องหนีไปอยู่บนถนน และที่สงสัยมากคือในบริเวณนั้นที่ไม่ได้รับเงินเยียวยามีแค่ 3 หลังเท่านั้น ซึ่งเป็นบ้านของดิฉัน บ้านพี่ชาย และบ้านของแม่ แต่หลังอื่นได้หมดทุกหลัง เลยเกิดความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่เอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัดตรงนี้ ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่แจ้งว่ารายชื่อตกรอรอบสองแต่พอหลังจากรอบสองแล้วไปลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตำบล มีเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบแต่หลังจากนั้นเงียบหายไปเลย”
ด้านนางพัฒนี เหมพันธ์ กล่าวว่า อุทกภัยที่ผ่านมาทำไมเงินเยียวยาไม่ได้รับความเป็นธรรม เอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัดที่ให้เงินมาแบบนี้ ขอให้มีการตรวจสอบด้วยว่าใครเป็นคนจ่ายเงิน เงินที่ได้มาทำไมได้แค่ 100-200 บาท ถ้าได้แค่นี้แล้วจะเอามาทำอะไร ขอให้ช่วยตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่หรือส่วนไหนมีการทุจริต เพราะตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมากฝากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องดูแลด้วย
ส่วนที่บ้านตอนนี้ข้าวของยังล้างไม่หมดเลย แต่ได้รับเงินเยียวยาแค่ 2,000 บาท เทียบกับค่าน้ำยาซักผ้ายังไม่คุ้มกันเลย ในวันที่เกิดเหตุน้ำท่วมติดอยู่ในบ้าน 2 วันแต่ยังดีที่เพื่อนบ้านเอาข้าวมาให้