ตรัง - ผู้โดยสารโวยแอร์ในอาคารสนามบินตรังเสียมานาน 2-3 เดือนแล้ว ทำเดือดร้อนหนัก ขณะที่ทางสนามบินเผยเกิดจากไฟกระชากทำให้อุปกรณ์เสียหาย ซ่อมแล้วยังพังอีก ต้องเอาพัดลมมาช่วยเป่าลดความร้อน เตรียมประสานการไฟฟ้าปรับปรุงระบบ
วันนี้ (16 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกที่ท่าอากาศยานตรังว่า เครื่องปรับอากาศภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินตรังได้เสียมานานนับเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการซ่อมแซม ทำให้ผู้โดยสารที่ไปใช้บริการต่างต้องทนกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด และอึดอัดกับสภาพอากาศภายในเป็นอย่างมาก
จากการไปตรวจสอบพบว่า เป็นอย่างที่ได้รับการร้องเรียนจริง โดยนับตั้งแต่ประตูทางเข้าออกมีการเปิดรับอากาศจากภายนอก จากเดิมที่ประตูจะปิดเปิดเฉพาะช่วงที่ผู้โดยสารเข้าออกประตูเท่านั้น ส่วนภายในอาคารซึ่งเป็นโถงขนาดใหญ่พบว่ามีผู้โดยสารที่รอขึ้นเครื่อง และญาติจำนวนมากไปรับส่งผู้โดยสาร ขณะที่บริเวณรอบๆ โถงใหญ่ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้มีการนำพัดลมแอร์ และพัดลมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพัดลมตั้งพื้นไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ภายในห้องโถงประมาณ 9 ตัว
ขณะที่ภายในห้องพักผู้โดยสารขาออกที่รอขึ้นเครื่อง มีการติดตั้งพัดลมแอร์และพัดลมตั้งพื้นด้วย ทำให้มีผู้โดยสารขาออกบางคนที่เจอสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ต้องนำตัวเองไปยืนตากพัดลมในช่วงรอขึ้นเครื่อง และเกิดปัญหาเช่นนี้มาเป็นเวลา 2-3 เดือนแล้ว สร้างความเดือดร้อนให้ผู้โดยสารอย่างมาก เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดตรังยังร้อนจัด ประกอบกับแต่ละวันมีเที่ยวบินมาก 10-12 เที่ยว จึงมีผู้โดยสารเดินทางไปมาวันละนับพันคน
โดยผู้โดยสารรายหนึ่งบอกว่า ตนใช้บริการท่าอากาศยานตรังทุกสัปดาห์ เพราะต้องเดินทางระหว่างบ้านที่ จ.ตรัง กับที่ทำงานที่กรุงเทพฯ พอสิ้นสุดสัปดาห์ลงกลับมาบ้าน ในช่วงวันศุกร์ถึงอาทิตย์ แต่พบว่าแอร์ในสนามบินตรังได้เสียมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนมาก ขนาดตนเดินทางกลับมาช่วงไฟลต์เย็น อากาศยังร้อน ต้องพาตัวเองไปยืนตากพัดลม แล้วผู้โดยสารที่เดินทางช่วงกลางวันจะร้อนขนาดไหน ที่ผ่านมาเคยถามพนักงานร้านอาหารชั้น 2 ที่อยู่ด้านบนว่าทำไมแอร์ถึงเสีย เขาตอบว่าไม่ทราบเหมือนกัน แล้วมาเสียยาวนานช่วงหน้าร้อนด้วย ยิ่งร้อนมาก ตนจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยเร่งซ่อมแซมด้วย
ขณะที่ นาฝ.ส.จุฑารัตน์ เพ็ชรลุ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง ชี้แจงว่า สำหรับปัญหาแอร์ในอาคารผู้โดยสารขาออกนั้นยอมรับเสียมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว แต่มีการซ่อมมาตลอด สาเหตุเกิดจากก่อนหน้านี้มีกระแสไฟฟ้าตกบ่อยจึงส่งผลกระทบกับตัวอุปกรณ์ และส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ของแอร์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งด้วยความที่แอร์ในท่าอากาศยานเป็นแอร์ขนาดใหญ่ ฉะนั้นในการซ่อมบำรุงจะต้องแจ้งให้ทางบริษัทที่มีอุปกรณ์เฉพาะเข้ามาตรวจสอบ เพราะท่าอากาศยานไม่สามารถที่จะจัดหาผู้รับจ้างในพื้นที่ได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้รับจ้างมาจากจังหวัดอื่น และรีบมาดำเนินการซ่อมให้เสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 3 วัน เนื่องจากอาคารผู้โดยสารขาออกมีลักษณะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ และต้องใช้แอร์ขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับระบบ และเมื่อทำการซ่อมห้องใดห้องหนึ่งแล้ว รอซ่อมอีกจุดต้องไปเปิดใช้งานแอร์อีกตัวหนึ่งแทน ทำให้ความเย็นไม่เต็มประสิทธิภาพทั่วทั้งพื้นที่ จึงรู้สึกไม่เย็นฉ่ำ ทั้งที่เปิดให้บริการตลอดเวลาแล้ว รวมทั้งได้มีการเสริมด้วยพัดลมไอน้ำ และพัดลมขนาดใหญ่ในหลายจุด
ทั้งนี้ เฉพาะภายในห้องผู้โดยสารขาออก และห้องโถงใหญ่ 2 จุด คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแอร์ถึง 7 แสนบาท เนื่องจากตัวอุปกรณ์และอะไหล่แต่ละชิ้นจะมีราคาสูงมาก และท่าอากาศยานตรังต้องเสนอของบประมาณ แต่ยืนยันมีการซ่อมหลายครั้งแล้ว พอซ่อมจุดหนึ่งแล้วเปิดใช้ หันไปซ่อมอีกจุดหนึ่ง ปรากฏว่าจุดที่ซ่อมแล้วก็เสียอีก ก็จะวนเวียนแบบนี้หลายครั้งแล้ว ทำให้ความเย็นไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่เป็นอยู่ เฉพาะบริเวณห้องโถงความเย็นประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์
สำหรับแนวทางแก้ไขคือ ท่าอากาศยานตรังกำลังหารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาไฟกระชาก จนส่งผลกระทบต่อระบบแอร์เช่นนี้อีก และจะต้องหารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้แยกไฟฟ้าของท่าอากาศยานตรัง ออกจากไฟฟ้าบ้านเรือนของประชาชน เพราะขณะนี้ใช้เส้นเดียวกัน เมื่อไฟมีปัญหาจึงส่งผลต่อท่าอากาศยานตรังด้วย
ส่วนกรณีที่มีผู้โดยสารสงสัยว่า ท่าอากาศยานตรังมีเครื่องเจนเนอเรเตอร์ หรือเครื่องปั่นไฟ แต่ทำไมไม่เอามาใช้ ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องเจนเนอเรเตอร์นั้นจะใช้สำหรับให้แสงสว่างและงานบริการต่างๆ แต่ไม่รองรับระบบแอร์หรือเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางท่าอากาศยานเข้าใจและเห็นใจ เนื่องจากผู้โดยสารบางท่านเดินทางมาจากสภาพที่อากาศร้อนมาก เมื่อเข้ามาในตัวอาคารอยากได้ความเย็นฉ่ำ แต่กลับมาต้องเจอกับปัญหาแอร์เสียเช่นนี้