xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรสตูลปลูกต้นเตยหอมในสวนมะพร้าว 6 ไร่ สร้างรายได้ 2 ช่องทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตูล - เกษตรกรสตูลลงมือปลูกต้นเตยหอมในสวนมะพร้าวบนพื้นที่ 6 ไร่ ช่วยสร้างรายได้ 2 ช่องทางให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ

นางวรันณ์ธร ทองหวั่น อายุ 50 ปี เกษตรกรสวนมะพร้าว และครอบครัว นำเกษตรอำเภอเมืองสตูล เข้าชมต้นเตยหอมที่ขึ้นอย่างหนาแน่นภายในสวนมะพร้าวที่ปลูกนานกว่า 30 ปี บนพื้นที่กว่า 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล โดยทางสวนได้ขุดคูน้ำเล็กๆ เก็บไว้ใช้น้ำในช่วงหน้าแล้ง เพราะต้นเตยหอมจะโตสวยงามในพื้นที่ซับน้ำ ซึ่งสร้างรายได้ 2 ทางให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ

ในส่วนของมะพร้าวที่มีมากกว่า 100 ต้น ทั้งมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวน้ำหวาน จะตัดเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500-700 ลูก ขายในราคาลูกละ 15 บาท ส่วนหนึ่งจะขายน้ำถุงละ 15 บาท สร้างรายได้เดือนละ 20,000 บาท ส่วนเตยหอมนั้นนับเป็นรายได้ทางที่ 2 จะเก็บขาย 100 ใบ ราคา 15 บาท สร้างรายได้ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน


นางวรันณ์ธร บอกว่า สวนมะพร้าวพื้นที่ 6 ไร่กว่า ทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวน้ำหวาน ที่สวนนี้ปลูกมะพร้าวมากกว่า 30 ปีแล้ว รายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท เป็นพื้นที่เล็กๆ ให้คนแก่คอยเก็บขาย ตอนนี้เพิ่มมูลค่าโดยการปลูกใบเตยเพิ่มขึ้นมา เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่มีน้ำท่วมอยู่ตลอด จึงนำเอาใบเตยมาปลูกเสริมทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน โดยจะส่งขายที่ร้านดอกไม้ จะมีแม่ค้าที่ทำขนมมาขอซื้อ ต่อเดือนสามารถขายได้หลายหมื่นใบ โดยทางสวนจะตัดขายเป็นใบไม่ได้ตัดเป็นต้น

อีกทั้งทางสวนปลูกเตยหอมคู่กับมะพร้าว ทำให้มะพร้าวซึ่งมีน้ำที่หอมอยู่แล้ว แต่เมื่อมีใบเตยมาปลูกยังช่วยเสริมความหอมของมะพร้าวขึ้นมาอีก มะพร้าวที่เราขายจะขายทั้งเป็นลูก แล้วก็เป็นน้ำ หากตัดเจอมะพร้าวลูกแก่จะแยกส่งให้แม่ค้าที่ทำขนมขาย หากเป็นลูกอ่อนเหมาะกับการทำเป็นน้ำจะแพกถุงส่งขายเอง ในส่วนของปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของสภาพอากาศ หากอากาศแล้งจะทำให้มะพร้าวเป็นลูกน้อยลง พอเริ่มมีฝนก็กลับมาให้ลูกเหมือนเดิม แต่ปีนี้ยอมรับว่าแล้งจัด

“ทั้งนี้ สวนมะพร้าวแห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเกษตรอำเภอ มีหมอดิน มีนักวิชาการมาตรวจดินให้เรา จะบอกว่าดินของเรามีปัญหาอะไร ให้เสริมแต่งอะไรบ้าง เพราะเราไม่รู้ว่าดินขาดสารอาหารอะไร เราเติมแต่งไม่ถูก เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญได้มาได้รู้ว่าดินขาดเกลือต้องเอาเกลือลง ขาดปุ๋ยอะไรก็เสริมลงไป ดินก็ออกมาดี มะพร้าวก็ออกมาดี” นางวรันณ์ธร กล่าว


ด้าน นายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ เกษตรอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า สำหรับแปลงปลูกมะพร้าวของลุงเจริญ จะปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวานผสมกัน และได้นำใบเตยมาปลูกเป็นรายได้เสริมซึ่งเหมาะกับพื้นที่ เพราะว่าในพื้นที่สวนนี้เป็นพื้นที่ซับน้ำ ขณะที่ในเรื่องความหอมจากใบเตยจะส่งผลให้น้ำมะพร้าวหอมนั้น เกษตรอำเภอเมืองสตูล บอกว่า อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของผู้บริโภคและเกษตรกรทั่วไปว่า ใบเตยมีผลต่อความหอมของมะพร้าว แต่จริงๆ แล้วกลิ่นของมะพร้าวน้ำหอมกับกลิ่นของใบเตยใกล้เคียงกันมาก

สำหรับสวนนี้ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ได้จัดตั้งเป็นแปลงเรียนรู้ให้เกษตรกรทั่วไปที่สนใจในเรื่องของการบริหารจัดการสวนมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ทางเกษตรอำเภอเมืองสตูล ได้ฝากถึงเกษตรกรทั่วไปว่า การทำการเกษตรเราอย่ามุ่งแค่พืชหลักอย่างเดียว ต้องหารายได้จากพืชเสริมที่ผสมกันอย่างลงตัว เพราะบางครั้งบางช่วงพืชหลักผลผลิตอาจตกต่ำเราจะได้มีรายได้จากพืชเสริมด้วยอีกช่องทางหนึ่ง

หากเกษตรกรท่านใดต้องการเรียนรู้ หรือสั่งซื้อมะพร้าวน้ำหอม หรือใบเตยหอม สามารถติดต่อสอบถาม โทร. 08-6958-4983






กำลังโหลดความคิดเห็น