xs
xsm
sm
md
lg

สรส.หาดใหญ่จัดกิจกรรมวันแรงงาน เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำ-ค่าครองชีพทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ จัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ รวมตัวแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำ และแก้ปัญหาค่าครองชีพทั้งระบบ

วันนี้ (1 พ.ค.) บรรยากาศในวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากลปี 2567 ที่ จ.สงขลา สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ (สรส.หใ) นำโดยนายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม เลขาธิการสมาคมพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ ได้รวมตัวจัดกิจกรรมเดินขบวนของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เช่น แรงงานชาวพม่า คู่ขนานไปกับการรวมตัวของแรงงานที่กรุงเทพฯ โดยรวมตัวกันที่หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่และเคลื่อนขบวนไปรวมกันที่ถนนเสน่หานุสรณ์ หรือถนนคนเดินหน้าโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า

จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติให้รัฐบาลแก้ปัญหา โดยข้อเสนอเร่งด่วน เช่นปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 712 บาท เท่ากันทั้งประเทศ กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมทั้งแรงงานภาคเอกชน และการจ้างงานในภาครัฐ

กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี เพื่ออนาคตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน รัฐต้องปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของ สรส. รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง

ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่ เลิกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนทั้งระบบภาษี และเก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาน้ำมันต่อลิตรสูงมาก ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต รัฐต้องไม่ปล่อยให้กิจการเหล่านี้ตกไปอยู่ในการบริหารจัดการของกลุ่มทุนเอกชน เพราะเป็นความสำคัญและจำเป็นของประชาชนในการดำรงชีพ

ลดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงแม้ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” ทำให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

และควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ เลิกสัญญาทาสที่รัฐทำกับกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐเช่น กฟผ./กฟภ./กฟน.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เพื่อความมั่นคงเรื่องพลังงานไฟฟ้า โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดจะยื่นให้แก่นายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น