พังงา - ชาวบ้านร้องตรวจสอบจุดเช็กอินสวิตเซอร์แลนด์ เหมืองหินเก่าถ้ำทองหลาง จ.พังงา หลังถูกประกาศปิดชั่วคราว อ้างทำเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ภาครัฐขาดการบริหารจัดการที่ดี พร้อมเรียกร้องให้กลับมาเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนเดิม
จากกรณีมีการประกาศปิดชั่วคราวจุดเช็กอินเหมืองหินเก่าถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพังงา ที่นักท่องเที่ยวสื่อโซเชียลยกให้เป็นสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย จนมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมาก หลังจากนั้นได้มีการประกาศ “ห้ามเข้าพื้นที่เป็นการชั่วคราว” ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มองว่าประกาศดังกล่าวทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางด้านการท่องเที่ยว เพราะแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สร้างรายให้ประชาชนในพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดพังงา
ล่าสุด นายอมรศักดิ์ หอมจันทร์ ผู้แทนกลุ่มรักบ้านเกิด พร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือ ต่อ นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ส.ส.จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบเรื่องการประกาศปิดจุดเช็กอินเหมืองหินเก่าถ้ำทองหลาง ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย
โดย นายอมรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ทางกลุ่มรักบ้านเกิด ออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิและประโยชน์ของชาวบ้านประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าว จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการให้เปิดพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นที่ท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และมองว่า คำสั่งของผู้ว่าฯ ให้ปิดสถานที่แห่งนี้ เพราะขาดการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐ ทั้งระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัดไม่ลงมาดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ทางกลุ่มต้องถามกลับไปยังผู้ว่าฯ ว่าวันนี้ท่านได้บริหารจัดการบริหารที่ดีแล้วหรือยัง จะมาโทษประชาชนไม่ได้ เพราะหน่วยงานรัฐจะต้องลงมาดูแลประชาชน
ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้ทางผู้ว่าฯ ตรวจสอบว่าพื้นที่นี้มีการทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิของนายทุนหรือไม่ และจะต้องหาทางออกเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน หากจะปล่อยไว้อย่างนี้ ประชาชนและพื้นที่จะเสียโอกาสในด้านการท่องเที่ยวทั้งด้านรายได้เลี้ยงชีพ และเศรษฐกิจโดยรวม
ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล เปิดเผยว่า ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิที่มีการอ้างถึงการถือครองเอกสารสิทธิที่มีความไม่ชัดเจน โดยชาวบ้านยืนยันว่า เป็นที่พื้นที่สัมปทานเหมืองเก่า และ หมดอายุสัมปทานไปแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ เมื่อมีการอ้างสิทธิครอบครองทำให้ภาครัฐไม่สามารถบริหารด้านความปลอดภัย ส่วนป้ายที่ติดประกาศไม่ระบุว่าเป็นของหน่วยงานใด ทางกรรมาธิการจึงรับเรื่องเพื่อนำเข้าไปพูดคุยในสภา เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพื้นที่ให้ชัดเจนด้วยความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
และชาวบ้านได้ร้องเรียนเพิ่มเติมในเรื่องของการขอสัมปทานเหมืองหินแห่งใหม่ในพื้นที่ที่ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องบางกลุ่มไม่ได้มีส่วนร่วม ทางกรรมาธิการจะเข้ามาขอให้มีการทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นต่อไป