ศูนย์ข่าวภูเก็ต – ดร.ธรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก น้ำตาซึม ไว้อาลัยไข่เต่า 120 ฟอง ที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เมื่อ 14 ก.พ. ไม่ได้รับผสมจากน้ำเชื้อเต่าตัวผู้ ทำให้ไข่ฝ่อ ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้แม้แต่ตัวเดียว จากภาวะโลกร้อน ที่เต่าตัวผู้ที่น้อยลงไปเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ไว้อาลัยให้ไข่เต่าทะเล ที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2567 จำนวน 120 ฟอง แต่ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า
ไม่ว่าเราทุ่มเทขนาดไหน มีบางครั้งที่โลกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ไข่เต่ามะเฟืองของแม่ 14 กุมภา 120+ ฟอง ไม่ได้รับการผสมทั้งหมด ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว
ปัญหาไข่ไม่มีเชื้อเกิดทั่วโลก บางแห่งถึงขั้นทำให้เต่ามะเฟืองหายไปจากพื้นที่นั้นถาวร เหตุเพราะเพศของเต่าจะขึ้นกับอุณหภูมิในรัง หากอุณหภูมิสูงเป็นเพศเมีย ต่ำเป็นเพศผู้ แต่โลกร้อนขึ้น ทรายร้อนขึ้น เต่าเกือบทั้งหมดฟักเป็นเพศเมีย เหลือตัวผู้เพียงน้อยนิด ยิ่งเวลาผ่านไป โลกร้อนขึ้นและร้อนขึ้น ตัวผู้ยิ่งน้อยลงและน้อยลง แม่เต่าบางตัวเจอตัวผู้ผสมพันธุ์เพียงไม่มาก ทำให้สัดส่วนของไข่ไม่มีเชื้อสูงขึ้น
แต่สำหรับรังนี้ไม่มีเลย แม่เต่าไม่เจอคู่ของเธอเลย ทั้งที่เธอขึ้นมาวางไข่ในวันที่ 14 กุมภา วันแห่งความรัก เธออยากมีความรัก แต่โลกที่มนุษย์ทำให้เปลี่ยนไป ไม่ยินยอมให้เธอมีรักและไม่ยอมให้เธอมีลูก…
ผมใส่เสื้อกำเนิดเต่ามะเฟือง ใส่กางเกงลายเต่า มาพร้อมกับความหวังเต็มเปี่ยม คิดถึงการระดมทุนครั้งใหญ่ให้กองทุนเต่า คิดถึงความหวังของเพื่อนธรณ์ ตั้งใจจะมาถ่ายภาพลูกเต่ายิ้มขอบคุณพวกเรา แต่ไม่เลย ไม่มีเลย ไม่มีลูกเต่าแม้แต่ตัวเดียว
ผมจ้องมองไข่เต่าที่บ้างก็แตก บ้างก็เน่า ไม่มีชีวิตน้อยๆ ถือกำเนิด ตะวันลับผืนน้ำ แสงสุดท้ายบนฟ้าเหนือท้องทะเลแสนงดงาม จะไม่ยอมแพ้ครับ จะยังไงก็ไม่มีทางยอม แต่ขอน้ำตาซึมบ้างได้ไหม…
หลังมีการโพสต์ดังกล่าวได้มีแชร์และแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน