ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม
การฝึก “คอบร้าโกลด์” 2024 ระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกากับไทย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม เป็นการฝึกร่วมครั้งที่ 43 ซึ่งการฝึกคอบร้าโกลด์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 หรือ พ.ศ.2525 เป็นต้นมา เป็นเวลาร่วม 42 ปีเต็ม และสำหรับการฝึก “คอบร้าโกลด์” 2024 ในครั้งนี้ พื้นที่ใช้ในการฝึกคือ จ.ระยอง ภาคตะวันออกของประเทศไทย
รวมทั้งการฝึกคอบไทเกอร์ ซึ่งเป็นการฝึกระหว่างกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา กองทัพอากาศไทย และกองทัพอากาศสิงคโปร์ ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยนั้น
มีการตั้งข้อสังเกตจาก ”องค์กรพัฒนาเอกชน” หรือ “เอ็นจีโอ” รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่มีการฝึกร่วมระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการฝึกในแต่ละครั้งว่า การฝึกหรือการซ้อมรบที่เรียกว่า “คอบร้าโกลด์” นั้น ย่อมมีนัยที่แอบแฝงของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่า สิ่งที่กองทัพไทยได้รับจากการฝึก “คอบร้าโกลด์” คือการได้ร่วมฝึกทางยุทธวิธีที่ทันสมัย ซึ่งกำหนดโดยกองทัพของสหรัฐอเมริกา เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของการทำสงคราม ที่มีประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการลงนามในสนธิสัญญาอินโด-แปซิฟิก ซึ่งหากมีการทำศึกสงครามเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศอื่นๆ อย่างเช่น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ประเทศไทยต้องหยัดยืนเคียงข้างสหรัฐอเมริกา ตามสนธิสัญญา “อินโด-แปซิฟิก” ที่ลงนามในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น การฝึกร่วมระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกากับกองทัพไทยจึงเป็นการซ้อมรบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการทำศึกสงครามในอนาคต ถ้ามีเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะความขัดแย้ง ใน “ทะเลจีนใต้” และความขัดแย้งในกรณี “ไต้หวัน” ที่อาจจะมีการลากโยงประเทศไทยเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งในอนาคต
ลึกลงไปคือความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการที่จะหยั่งเท้า ด้วยการมีฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศในประเทศไทย ซึ่งเป็นแผ่นดินที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการมีฐานทัพ เพื่อการ ควบคุมพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สหรัฐอเมริกาเห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนขยายฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารเข้ามา
แต่สหรัฐอเมริการู้ดีว่า โอกาสที่จะมีฐานทัพในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทางทะเลหรือทางอากาศเป็นไปได้ยาก เพราะมีแรงต้านจากประชาชนและภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ซึ่งไม่เห็นด้วยในการที่จะให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามี “ที่มั่น” ในประเทศไทยอย่างในอดีต
แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันว่า แม้จะไม่มีฐานทัพในประเทศไทย แต่ด้วยความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย สหรัฐอเมริกาก็ใช้กลยุทธ์ของการเป็นมหาอำนาจที่มีความเหนือกว่าประเทศไทยในการแอบแฝงใช้ประโยชน์จากฐานทัพต่างๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่โคราช กาญจนบุรี และที่อื่นๆ
การฝึกร่วมที่ชื่อว่า “คอบร้าโกลด์” ที่ยาวนานถึง 42 ปีจึงเป็น “กลยุทธ์” ของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทย และทำให้กองทัพไทยเป็นส่วนกำลังที่ต้อง “สนับสนุน” กองทัพสหรัฐอเมริกาหากเกิดศึกสงครามกับ “มหาอำนาจ” อื่นๆ นี่คือสิ่งที่แอบแฝงอยู่กับการฝึกคอบร้าโกลด์ ที่เพิ่งจะ จบลงไปของปี 2024 รวมทั้งการฝึกร่วม “คอปไทเกอร์” ระหว่างกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา กองทัพอากาศไทย และสิงคโปร์ ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเร็วๆ นี้ด้วย
และนี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องรับรู้ และต้องมีมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายของกองทัพ เพราะหากเกิดความผิดพลาดตามมาจากนโยบายในการเดินตาม “สหรัฐอเมริกา” มากเกินไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นประชาชนทุกคนต้องแบกรับไว้เช่นกัน