คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ชายแดนใต้ช่วงนี้กลายเป็น “10 อันตราย” ก่อนสุดสิ้นเดือนรอมฎอน และเป็นช่วงที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประกาศเตือนว่าจะมีเปิดยุทธการ “จำกัดเสรีภาพ” ของกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น เพื่อมิให้ปฏิบัติการก่อการร้ายในพื้นที่ตามความต้องการ
โดยข้อเท็จจริงและโดยหลักศาสนา เดือนรอมฎอนคือ “เดือนประเสริฐ” ของมุสลิมที่ต้องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ การเข่นฆ่าหรือทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันถือเป็น “บาปมหันต์” ซึ่งเหมือนกันกับหลักศาสนาของทุกศาสนาบนโลกใบนี้
แต่บีอาร์เอ็นกลับฉวยโอกาสใช้เดือนรอมฎอนเป็นเครื่องมือ “ปลุกระดม” ให้คนในขบวนการเชื่อว่า การเข่นฆ่าศัตรูในเดือนนี้จะได้ “บุญ 10 เท่า” เมื่อเป็นเช่นนี้ เดือนประเสริฐของมุสลิมชายแดนใต้จึงกลายเป็น “รอมฎอนเลือด” มาโดยตลอดที่ไฟใต้ระลอกใหม่ถูกจุดขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2547
ผู้เขียนไม่แปลกใจที่บีอาร์เอ็นใช้เดือนรอมฎอนเป็นเครื่องมือให้กองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมเข่นฆ่าทำร้ายคน เพราะสำหรับขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว วิธีการอะไรก็ตามที่ทำแล้วได้ประโยชน์ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าเรื่องที่กระทำจะเป็นการบิดเบือนศาสนาก็ตาม
แต่ที่ต้องแปลกใจคือ การที่บีอาร์เอ็นก็รู้ว่าการทำเช่นนี้ผิดทั้งหลักศาสนาและผิดกฎหมาย แต่ก็ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เลือดทาแผ่นดินปลายด้ามขวานในเดือนรอมฎอนมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่เพียงเท่านั้นหน่วยงานและองค์กรทางศาสนาที่มีอยู่มากมายทั้งในและต่างประเทศก็ไม่เคยให้ความสำคัญแต่อย่างใด
องค์การความร่วมมืออิสลามโลก (OIC) ที่เดินทางมาติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้ปีละครั้งก็ไม่เคยประณามบีอาร์เอ็นในเรื่องนี้ ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าและสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควรต้องถาม OIC ว่า มองประเด็นปัญหาเดือนรอมฎอนเลือดอย่างไร ถือว่าบีอาร์เอ็นทำผิดหลักศาสนาอิสลามหรือไม่
นอกจากนี้ ควรต้องถามกลุ่มสิทธิมนุษยชนและเอ็นจีโอ รวมทั้ง “ภาคประชาสังคม” ทั้งในและนอกพื้นที่ด้วยว่า คิดเห็นต่อการที่บีอาร์เอ็นทำให้เกิดเดือนรอมฎอนเลือดอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้นิ่งเฉยแบบมองไม่เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตลอด
หรือพวกเขาเห็นว่าผู้ที่ถูกเข่นฆ่าและทำร้ายจากฝีมือบีอาร์เอ็นไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ เป็นพวกไม่มีราคา ซึ่งผิดกับเวลาที่ทหารและตำรวจทำการ “วิสามัญฯ” คนของบีอาร์เอ็นที่มีหมายจับมากมาย คนพวกนั้นจะออกมา “ร้องแรกแหกกระเชอ” เรียกร้องความเป็นธรรมระงมไปทั้งแผ่นดิน
ที่สำคัญ “ผู้นำศาสนา” ในพื้นที่ต่างก็เงียบงันเช่นกัน ทั้งที่ผู้เป็นเหยื่อไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่ยังมี “คนพุทธ” และ “มุสลิม” รวมอยู่ด้วย อย่างกรณีบีอาร์เอ็นกระทำอย่างโหดร้ายต่อ “ทหารพรานหญิง” ท่ามกลางสายตาประชาชนมากมายในตลาดดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
นี่คือ “สิ่งที่ผิดปกติ” แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข ดังนั้น สิ่งที่สังคมต้องการเห็นคือ องค์กรและผู้นำศาสนาทั้งในพื้นที่ ในประเทศและระดับโลกต้องออกมาประณาม ออกมาชี้ว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นทำอยู่ทั้ง “ผิดกฎหมาย” และ “ขัดกับหลักศาสนา”
เช่นเดียวกับกรณีการสร้าง “นักรบพระเจ้า” ของบีอาร์เอ็นที่ทำให้ “คนร้าย” ที่ต่อสู้เจ้าหน้าที่รัฐจนถูกวิสามัญฯ กลายเป็นผู้ทำ “ชาอีด” หรือ “พลีชีพ” ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนในพื้นที่ ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ
ทั้ง 2 ประเด็นนี้มีผลต่อมาตรการดับไฟใต้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยทั้งองค์กรและผู้นำศาสนาในการสร้างความเข้าใจกับมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ เพราะแม้เจ้าหน้าที่จะมีความรู้และความเข้าใจในหลักศาสนาอิสลามไปชี้แจงก็ไม่มีน้ำหนักพอ
กว่า 20 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ สังคมไทยและโดยเฉพาะคนในพื้นที่ไม่เคยได้เห็นองค์กรและผู้นำศาสนาออกมาทำหน้าที่ที่ควรทำ แต่ที่เห็นจนชาชินคือ “ผู้นำหน่วย” ทั้งฝ่ายกองทัพและพลเรือนต่างนอบน้อมอย่างให้เกียรติแก่ผู้นำศาสนา และมักจะไปเยี่ยมเยือนแบบหัวกะไดแทบไม่เคยแห้งเสียด้วย
แน่นอนสิ่งที่บีอาร์เอ็นใช้บ่มเพาะคนเข้าร่วมขบวนการการอย่างได้ผลคือ การหยิบเอาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และหลักการศาสนามาบิดเบือน แล้วใช้ปลุกระดมผู้คนตั้งแต่เด็กๆ ในโรงเรียนตาดีกาจนถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งมุสลิมในชายแดนใต้ต่างดำเนินชีวิตด้วยการยึดโยงกับหลักการความเชื่อทางศาสนาอย่างเข้มข้นด้วย
ดูได้จากยุทธศาสตร์ปี 2567-2568 ที่บีอาร์เอ็นใช้ต่อสู้กับรัฐไทยให้ความสำคัญกับ “งานมวลชน” และ “งานการเมือง” ที่ยึดโยงกับคำสอนทางศาสนา มากกว่า “งานการทหาร” หรือมุ่งเน้นปฏิบัติการก่อการร้าย
เช่น ยกคำมาพร่ำสอนว่า “จงละเมิดต่อเขา เหมือนที่เขาละเมิดต่อเจ้า” ซึ่งหมายถึง “สยาม” เคยละเมิดและยึดดินแดน “ปาตานี” ในอดีต วันนี้ คนปาตานีจึงละเมิดต่อรัฐไทยได้ ซึ่งนี่ก็เป็นการบิดเบือนหลักการศาสนาเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในงานการเมืองเพื่อสร้างมวลชนนั่นเอง
และที่สำคัญวันนี้บีอาร์เอ็นยังใช้ “อุซตาส” หรือ “ครูสอนศาสนา” ในการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่เข้าสู่ขบวนการเหมือนเดิม ซึ่งก็คือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งใน “โรงเรียนตาดีกา” และ “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา” ที่มีอยู่จำนวนมากในชายแดนใต้
ดังนั้น “หัวใจ” ของมาตรการดับไฟใต้จึงยากที่จะปฏิเสธความช่วยเหลือจาก “องค์กรศาสนา” และ “ผู้นำศาสนา” เพราะมีผลมากต่อการแก้ปัญหาการบิดเบือนหลักการศาสนาที่บีอาร์เอ็นใช้เป็นเครื่องมือสำคัญอยู่ การจะได้รับความร่วมมือหรือไม่นั่นต้องถือเป็นงานหลักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ต้องทำให้สำเร็จโดยเร็ว
กว่า 20 ปีไฟใต้ระลอกใหม่เป็นที่ประจักษ์มาตลอด ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจึงน่าจะได้บทสรุปแบบรวบยอดได้แล้วว่า “องค์กรศาสนา” และ “ผู้นำศาสนา” ช่วยทุบทำลาย “กระบวนการบ่มเพาะนักรบหน้าขาว” ของบีอาร์เอ็นได้อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง แถมไม่ต้องสิ้นเปลื้องงบประมาณอะไรอย่างมากมายด้วย