xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตเร่งแก้ปัญหา "หนอนหัวดำ" ลงทำลายต้นตาลโตนดแหลมพรหมเทพ ต้นไม้สัญลักษณ์จุดชมวิว Landmark สำคัญเกาะภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตเร่งแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำ ลงทำลายต้นตาลโตนด บริเวณแหลมพรหมเทพ ต้นไม้สัญลักษณ์จุดชมวิว Landmark สำคัญของเกาะภูเก็ต มอบเกษตรอำเภอ และหน่วยงานท้องถิ่นเร่งแก้ปัญหาหยุดการระบาด และเร่งกำจัดให้ถูกวิธี


นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางจรัสศรี คำภีรสิงห์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอเมืองภูเก็ต เกษตรอำเภอเมืองภูเก็ต นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมลงพื้นแหลมพรหมเทพ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชตระกูลปาล์มที่ทำลายต้นตาลโตนดต้นไม้สัญลักษณ์จุดชมวิว Landmark สำคัญของเกาะภูเก็ต

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ต้นตาลโตนดที่อยู่ในพื้นที่แหลมพรหมเทพ เป็นพืชที่สร้างความสวยงามและส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นสัญลักษณ์ของแหลมพรหมเทพ โดยในระยะนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดการระบาดของศัตรูพืชตระกูลปาล์ม อย่างหนอนหัวดำมะพร้าว ที่เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยพืชอาหารของหนอนหัวดำมะพร้าว คือ มะพร้าว ตาลโตนด อินทผลัม หมาก ปาล์มน้ำมัน และปาล์มประดับต่างๆ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการป้องกันและกำจัด อาจเกิดการระบาดและขยายเป็นวงกว้าง อาจจะส่งผลต่อผลผลิตและภาพลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต


นางจรัสศรี คำภีรสิงห์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับการสังเกตว่าต้นมะพร้าว ต้นตาลโตนด หรือพืชตระกูลปาล์มถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลาย คือทางใบจะมีสีน้ำตาล มีลักษณะการทำลายคล้ายทางเดินของปลวก ซึ่งวิธีการการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว เน้นการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เพื่อเร่งยับยั้งการระบาดอย่างยั่งยืน ซึ่งมีวิธีดังนี้ ตัดทางใบและเผาทำลาย หรือเรียกว่า วิธีเขตกรรม ที่ให้ตัดทางใบล่างที่พบหนอนหัวดำมะพร้าวจำนวนมาก ที่สำคัญไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มจากแหล่งที่มีการระบาดเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น คือ การผลิตแตนเบียนบราคอน ฮีบีเตอร์ เพื่อควบคุมการเพิ่มประชากรของหนอนหัวดำ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะให้ปล่อยช่วงเวลาเย็นพลบค่ำในอัตราไร่ละ 200 ตัว กระจายทั่วแปลง วิธีนี้ถ้าปล่อยได้มากจะเห็นผลในการควบคุมเร็วขึ้น

นอกจากนั้น คือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้น หรือพ่นทางใบ โดยวิธีฉีดเข้าต้น พบว่า สารอีมาเม็กตินเบนโซเอตอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น เป็นอัตราที่เหมาะสม และมีความคุ้มค่า และกรณีแปลงเกษตรกรที่ทิ้งร้างไม่มีผู้ดูแลหรือที่สาธารณะอาจจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการรณรงค์ป้องกันหลายวิธี และครอบคลุมในทุกพื้นที่การแพร่ระบาด


นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวว่า ต้นตาลโตนดเป็นพืชที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณแหลมพรหมเทพ เบื้องต้นจะใช้วิธีการตัดทางใบ เผาและทำลาย พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณสำหรับป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ โดยประสานงานร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตต่อไป


อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับให้นายอำเภอ ร่วมกับเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เร่งลงพื้นที่สำรวจและป้องกันกำจัดอย่างเร่งด่วน และควรให้คำแนะนำกับเกษตรกร เพื่อให้หมั่นสังเกตสวนมะพร้าว พืชตระกูลปาล์มของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบหนอนหัวดำให้เร่งทำลายและควบคุมการระบาด เพื่อป้องกันการขยายวงกว้าง และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อช่วยกันตรวจสอบสวนมะพร้าวที่ถูกปล่อยร้างไม่มีคนดูแล เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สวนมะพร้าวที่ถูกทิ้งร้างกลายเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืช




กำลังโหลดความคิดเห็น