xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนเบตงกลับมาเปิดหน้ายางที่เคยปล่อยรกร้างหลังราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยะลา - ชาวสวนยาง อ.เบตงเฮ ยางปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง เผยช่วงนี้เข้าสู่หน้าแล้ง ยางผลัดใบ น้ำยางพาราออกน้อย ชาวสวนส่วนใหญ่ปิดไม่กรีดยาง ที่ยังตัดมีเพียงต้นแก่กว่า 10 ปี แต่ไม่ทำยางแผ่น เหตุไม่มีคนงาน

วานนี้ (23 มี.ค.) ภายหลังราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ประกาศราคาซื้อขายยาง ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2567 ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 85.36 บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 88.56 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย ราคา 56.50 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด ราคา 78.50 บาท/กิโลกรัม

นายสรรเสริญ จูทะมงคล ผู้ประกอบการรับซื้อยางพารา อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเผยว่า ช่วงนี้ยางพารายังผลัดใบอยู่ ทำให้ตลาดไม่คึกคักเท่าไหร่ เกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มียางอ่อนยังคงปิดหน้ายาง ส่วนเกษตรกรชาวสวนที่มีต้นยางพาราแก่หรือมีอายุมากว่า 10 ปี ก็ยังคงตัดกันอยู่ แต่ไม่ได้ทำแผ่น ในอำเภอเบตงส่วนใหญ่เกษตรกรจะทำน้ำยางสดและทำเป็นขี้ยางก้อน สาเหตุที่เกษตรกรไม่ทำยางแผ่น เพราะไม่มีคนงานมาทำยางแผ่น ซึ่งคนงานเป็นตัวเลือก โดยราคาน้ำยางสดในพื้นที่อำเภอเบตง อยู่ที่ 78.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนขี้ยางก้อนอยู่ที่ ราคา 57-58 บาท/กิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปิดราคายางพาราในแต่ละวันของบริษัทเอกชน

ด้านนายอุสมาน สาลัง ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาเบตง เปิดเผยภายหลังจากราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 90 บาท อำเภอเบตงนั้นเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเมืองยางพารา (Rubber Cities) มีสวนยางพาราอยู่ 3 แสนกว่าไร่ ที่มีเอกสารสิทธิและที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่วนภาพรวมของอำเภอเบตงเวลานี้เป็นช่วงที่เกษตรกรหยุดทำการกรีดยาง เนื่องจากใบยางยังอ่อนอยู่ ส่วนเกษตรกรที่มียางแก่ก็กรีดอยู่ ส่วนเกษตรกรที่มีสวนยางพาราอยู่ 10 กว่าปียังคงหยุดตัดอยู่ เลยทำให้สถานการณ์ของยางพาราเบตงยังคงมีปริมาณน้อยอยู่

ส่วนด้านราคายางพารานั้นกระเตื้องขึ้น จากที่ว่าราคา 40 กว่าบาท 50 กว่าบาท เวลานี้ราคาน้ำยางสดที่เบตงวันนี้อยู่ 70 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ส่วนยางแผ่นรนควันนั้นอยู่ที่ 90 กว่าบาทแล้ว ทำให้รายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราดีขึ้นมากซึ่งมีผลพลอยได้กับรัฐบาลที่มาช่วยดูแลและกำกับในเรื่องนี้ด้วย

สำหรับการยางพาราแห่งประเทศไทย เป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว ในทุกวันนี้สวนยางพาราของเกษตรกรจากที่ผ่านมาไม่มีคนงานมารับจ้างกรีดยาง ทำให้สวนยางพารารกร้าง ซึ่งทุกวันนี้เริ่มทยอยเปิดหน้ายางพารากันใหม่แล้วหลังราคายางพาราปรับขึ้น เนื่องจากส่วนแบ่งระหว่างคนงานกับเจ้าของสวนอยู่กันได้ ถึงในแต่ละเดือนกรีดยางพาราได้ 10 กว่าต่อเดือนก็ยังอยู่ได้ ถ้าราคายางพารายังคงที่อยู่แบบนี้ที่ราคา 90-95 บาทต่อกิโลกรัม

ที่ผ่านมา 3-4 ปี สวนยางพาราแปลงใหญ่จะไม่มีคนงานเข้ามารับจ้างกรีดยาง สาเหตุมาจากโรคใบยางพาราร่วงและราคายางพาราและเรื่องฝนตกต่อเนื่อง ชาวสวนยางมีปัญหามาก ซึ่งขณะนี้ดีขึ้นมากหากราคาอยู่แบบนี้จะช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้ดีมาก แต่ไม่ทราบว่าจะยืนราคาได้นานเท่าไหร่ ก็ยินดีกับเกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งใน 4 ตำบลของอำเภอเบตง จะทำยางพาราขายเป็นน้ำยางและยางก้นถ้วยหรือขี้ยาง ส่วนยางแผ่นรมควันนั้นส่วนมากจะจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ซึ่งมีการยางพาราแห่งประเทศไทย สาขาเบตง ดูแลอยู่โดยมีสหกรณ์สุตัน สหกรณ์บ่อน้ำร้อน สหกรณ์ตาเนาะแมเราะ สหกรณ์ยะรม ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้น คือส่วนต่างจากการขายน้ำยางสดและให้สหกรณ์ผลิตทำให้เกิดส่วนต่าง 10 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ถือว่ารายได้เพิ่มขึ้นของสมาชิก

ความจริงเรื่องแผ่นยางพาราที่ยาวที่สุดก็เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเบตง ในความจริงเป็นจริงที่ต้องทำยางแผ่นยาวเนื่องจากสวนยางพาราของเจ้าของสวนมีพื้นที่ค่อนข้างไกล การขนส่งลำบากมาก เลยทำให้เจ้าของสวนยางพาราต้องทำแผ่นยางพาราที่ยาวประมาณ 4-5 เมตร ซึ่งที่อื่นไม่มีทำยางแผ่นยาวขนาดนี้ สาเหตุที่ต้องทำแผ่นยางพารายาว มาจากการขนส่งลำบาก หากทำแผ่นยางพาราเหมือนทั่วไปคือแผ่นเล็กมันไม่คุ้มเพราะสวนยางพาราส่วนมากจะอยู่บนภูเขาสูง

อีกประเด็นคือเจ้าของสวนยางพาราแปลงใหญ่ส่วนมากจะได้น้ำยางพารามา 10 กว่าแกลลอน น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม หากทำยางแผ่นเล็ก 1 กิโลกรัมทำให้เสียเวลาและไม่คุ้มในการขนส่งในวันหนึ่งก็ทำไม่เสร็จหากทำยางพาราเป็นแผ่น เกษตรกรจึงได้ประยุกต์โดยทำให้น้ำยางใน 1 แกลลอนจะทำยางพาราได้ 1-2 แผ่นเท่านั้น แต่ยาง 1 แผ่นมีน้ำหนักอยู่ 7-8 กิโลกรัมต่อแผ่น ซึ่งในวันนี้ยังมีทำกันอยู่ แต่มีน้อยแล้ว หลังจากมีถนนหนทางที่ทาง อบต.แต่ละพื้นที่พัฒนาขึ้นทำให้สะดวกในการขนส่งผลผลิตออกจากสวนยางพารา ทำให้ชาวสวนยางพาราเปลี่ยนจากการทำแผ่นยางพารามาขายน้ำยางสดกันแทนในปัจจุบัน

ส่วนกรณีที่ชาวสวนยางพาราได้โค่นยางพาราหันมาปลูกทุเรียนแทนนั้น นายอุสมาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางการยางฯ ได้ส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวแต่ในปัจจุบันทางการยางฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกพืชแบบไม่ยืนต้น คือที่อำเภอเบตงส่วนมากจะเปลี่ยนแปลงสาเหตุจากราคายางพาราตกต่ำ เลยมาเปลี่ยนเป็นสวนทุเรียน ซึ่งตอนนี้ที่มาขอทุนกับการยางแห่งประเทศไทย สาขาเบตง ในปีงบประมาณ 2567 ทะลุเป้าจากที่อนุมัติมา 1,000 ไร่ แต่ในปีนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางยื่นของทุนกว่า 4,000 กว่าไร่เลยเป็นปัญหาในเรื่องน้ำที่จะรดน้ำต้นทุเรียนได้เกิดปัญหาแล้ว คือน้ำไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นหน้าแล้งด้วย

การปลูกทุเรียนต้องใช้น้ำไม่เหมือนการปลูกยางพารา นี่คือปัญหาในปัจจุบันของเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่หันมาปลูกทุเรียน ส่วนทางการยางฯ ได้ส่งเสริมเพราะเป็นรายได้เสริมจากอาชีพสวนยางพารา เพราะในทุกวันนี้คนปลูกยางพารา 10 ไร่ กับคนปลูกทุเรียน 10 ไร่ซึ่งมีรายได้ต่างกันมากเลย แต่การปลูกทุเรียนมีต้นทุนที่สูงมากเลยทีเดียว แต่มันเห็นภาพที่ทุเรียนกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท ส่วนยางพาราที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 30 บาท 3 กิโลกรัม 100 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราต้องเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงคิดว่าดีเพราะมันรายได้ของเกษตรกรที่จะปลูกพืชยั่งยืน คือพืชร่วมยางพารา มีการผสมผสานคือมียางพารา มีสวนผลไม้ เพราะถ้าหากราคายางพาราตกต่ำก็สามารถไปขายผลไม้ ซึ่งเป็นตัวเลือกของเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกทุเรียน มีพื้นที่ 4 หมื่นกว่าไร่แล้ว และในอนาคตคาดว่าอาจจะมีเพิ่มขึ้นเพราะเจ้าของสวนแต่ละเจ้ามีสวนแปลงใหญ่ทั้งนั้น ซึ่งต่อไปพื้นที่ปลูกทุเรียนของอำเภอเบตง จะเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่าที่อื่นเพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจด้วย ดินก็ดี อากาศก็ดี ซึ่งเป็นตัวเลือกในการปลูกทุเรียนในอำเภอเบตง ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น